ดัน “เมดอินไทยแลนด์" ปลุกเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ สู่โหมดรีสตาร์ทประเทศ

04 ต.ค. 2564 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 16:22 น.
1.1 k

ต้นปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) สร้างโอกาสและแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านการรับรอง Made in Thailand (MiT) โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ

 

ดัน “เมดอินไทยแลนด์\" ปลุกเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ สู่โหมดรีสตาร์ทประเทศ

 

ทั้งนี้เพื่อเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสในการขายสินค้าให้กับภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินรายได้ให้กับธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมหาศาล โดยเม็ดเงินนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ในสถานการณ์โควิด-19

 

เร่ง “ยาพื้นฐาน” ฟื้นกำลังซื้อ

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน และประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะฟื้นกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติได้ อาจต้องเร่ง “ยาพื้นฐาน” เพื่อฟื้นกำลังซื้อให้กลับมา ไม่ว่าจะเร่งในเรื่องกระจายการฉีดวัคซีน และการตรวจที่มีคุณภาพ, การเยียวยา และการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน และเอกชน

 

ทั้งนี้โจทย์สำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจคือการบริโภคของภาคเอกชน โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีการคาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2564 จะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1 ซึ่งโตขึ้นจากปี 2563 ที่อัตราการเติบโตติดลบ 1 ขณะที่ก่อนเกิดโควิดเคยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ดังนั้นเป้าหมายของภาครัฐคือต้องเพิ่มอัตราการขยายตัวตรงนี้ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เพื่อให้เกิดเงินหมุนในระบบมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เหมาะสม มีการหารือถึงจำนวนเม็ดเงินที่ภาครัฐจะกู้มาเพื่อทำโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้ง ล่าสุดที่มีข่าวระบุว่าจะมีการกู้เงินมาเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท ในขณะที่มีข้อถกเถียงกันว่าควรต้องกู้เพิ่มถึง 1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจำนวนเงินจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือแผนงานการใช้เงินที่เหมาะสม โครงการที่จะนำไปใช้จากเงินกู้นี้ ควรเป็นโครงการที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และจะต้องมีการเร่งจ่ายอย่างรวดเร็วเพื่อให้เม็ดเงินไปถึงประชาชนได้เร็วที่สุด

 

พิมพ์ใจ  ลี้อิสสระนุกูล

 

 

ดันเมดอินไทยแลนด์ฟื้น ศก.

 “สุดท้ายแล้วในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิมได้นั้น คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการเปิดประเทศ ซึ่ง ณ จุดๆ นี้ การที่จะ Restart ประเทศไทย คงไม่ใช่เป็นเพียงบทบาทของภาครัฐเพียงลำพัง แต่ภาคเอกชนเอง ทั้งส.อ.ท. และสภาหอการค้าฯ รวมถึงภาคเอกชนอื่นๆ ต้องจับมือกัน ร่วมแรง ร่วมใจ และเข้ามาร่วมวางแผน และขับเคลื่อนในส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจัง แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่ใช้เวลาสั้น ๆ แต่เราจำเป็นที่จะต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อช่วยพลิกฟื้นให้คนไทยกลับมามีความหวัง และทำให้ประเทศไทยกลับมายืนได้อีกครั้ง”

 

นางพิมพ์ใจ กล่าวอีกว่า  ในแง่ภาคเอกชนโดย ส.อ.ท.  ทางหนึ่งมองว่า การเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านการรับรอง Made in Thailand (MiT) ถือเป็นจุดสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อเกิดขึ้นภายในประเทศ  ที่ผู้ประกอบการไทยหรือต่างประเทศที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการจดทะเบียนครบตามลักษณะกิจการ มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องในประเทศไทย มีการจ้างงานถูกต้อง และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งใช้แนวทางการคำนวณมูลค่าตามหลักการ ASEAN Content ที่สำคัญต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs สามารถขึ้นทะเบียนได้ หากมีการผลิตสินค้าและมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่บอกได้ว่าผลิตในประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

 

 “ดูจากยอดงบประมาณประจำปีของรัฐ ตั้งแต่ปี 2562 ถึง ปัจจุบัน มีระดับประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ต่อปี (เฉลี่ยโดยประมาณ) ซึ่งงบการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจะมีสัดส่วนสูงกว่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สินค้ากลุ่มที่อยู่ในความต้องการของงบลงทุนนี้จึงมีโอกาสสูง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ และในขณะเดียวกัน การขยายการลงทุนด้านนี้ ก็มีผลต่อความต้องการด้านครุภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย และครุภัณฑ์ทุกชนิดปรับมาเป็นสินค้าผลิตในประเทศไทยตามกฎกระทรวงแทนสินค้านำเข้า ดังนั้น เป็นผลที่ดีทั้งหมดกับสินค้าหลายกลุ่ม”

 

ดัน “เมดอินไทยแลนด์\" ปลุกเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ สู่โหมดรีสตาร์ทประเทศ

 

พิษโควิดหดเป้ารับรอง MiT

 อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปี 2564 ส.อ.ท. ได้ตั้งเป้าหมายรับรองสินค้า MiT ให้ถึง 100,000 SKU นั้น เป็นช่วงก่อนการเกิดวิกฤติโควิด-19 รอบ 3 ซึ่งมีความรุนแรง สภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินงานในทุกด้าน ถึงแม้ว่า ระบบการรับรองสินค้าสามารถเริ่มดำเนินการได้ทาง online ตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนเมษายนก็ตาม  แต่ด้วยอุปสรรคจากประกาศด้านการควบคุมการระบาดของโรคตามลำดับที่ผ่านมา ทำให้ ส.อ.ท. ปรับเป้าหมายการรับรองของปี 2564  เป็น 50,000 SKU และปัจจุบันนี้มียอดรับรองสินค้าถึง 22,500 SKU ซึ่งคาดว่าจะได้ตามเป้าหมายดังกล่าว

 

จากข้อมูลล่าสุดมีผู้ประกอบการมาขอขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand (MiT) ตั้งแต่เปิดให้บริการขึ้นทะเบียนสินค้า MiT ช่วงเดือน ม.ค. จนถึงปัจจุบัน (20 ก.ย. 64) มีบริษัทที่ลงทะเบียนในระบบ 2,680 บริษัท  และขอรับรองสินค้า MiT กว่า 20,000 รายการสินค้า มีค่าใช้จ่ายการมาขอขึ้นทะเบียนใบรับรองฉบับละ 250 บาท แต่ช่วงพิเศษ โปรโมชั่นจนถึงสิ้นปี 2564 เหลือฉบับละ 200 บาท ซึ่งใบรับรองมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่อนุมัติงาน

 

สำหรับ ประโยชน์ผู้ประกอบการที่มาขอขึ้นทะเบียนสินค้า MiT  มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. สิทธิประโยชน์จากการให้แต้มต่อของภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ60 ของพัสดุที่จะใช้ 2. สินค้าได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากคู่ค้า / ผู้บริโภค 3. สร้างโอกาสในการขยายการค้าไปยังต่างประเทศที่นิยมสินค้าไทยได้มากขึ้น โดยมีกลุ่มตลาดเป้าหมาย ได้แก่  ภาครัฐ   ธุรกิจเอกชน  ผู้บริโภคในประเทศ  และคู่ค้าในต่างประเทศ

 

ซื้อสินค้าไทย 60% ช่วยได้แน่       

นางพิมพ์ใจกล่าวอีกว่า คาดว่างบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะต้องมาซื้อสินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 60% จะทำให้มีเม็ดเงินไหลไปสู่ผู้ประกอบการไทยมาก และหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น จากหลักเกณฑ์การพิจารณาสินค้า Made in Thailand ตามแนวคิดของ ASEAN  Content มุ่งพิจารณาสัดส่วน local content 40 % (ส่วนประกอบสินค้าที่ทำในประเทศ 40%) มีผลต่อการกระจายการซื้อวัตถุดิบ หรือวัสดุประกอบจาก Supply chain และ SMEs ดังนั้น จึงหมายถึงการสร้างโอกาสการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ซื้อสินค้ารับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 60% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยตรง

 

สั่งลุยขยายตลาด MiT ปี 65 

สำหรับภารกิจต่อไปในปี 2565 ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ Made in Thailand ได้เล็งส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) และธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C)เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างสินค้า Made in Thailand ไปสู่รูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) เช่น การนำร่องสินค้า MiT ไปยังเครือเซ็นทรัล ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า MiT - Made in Thailand ได้นั้น ส.อ.ท. จึงกำหนดแผนการดำเนินงานไว้  หลายด้าน เช่น  1. การผลักดันสมาชิก ส.อ.ท. ให้สนับสนุนสินค้า Made in Thailand โดยจะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกในการรับบริการจาก ส.อ.ท. เพิ่มเติม เช่น การได้สิทธิในการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน การลดหย่อนค่าบำรุงสมาชิก หรือบริการอื่นๆ

 

 2.แผนการผลักดันสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้า Made in Thailand ในด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยร่วมกับสถาบันการเงินให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินบางแห่งไปแล้ว  3.ในระยะยาว ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564