ต้นทุนยางพาราไทย : ต้อง “ปรับ 360 องศา” เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

28 ก.ค. 2564 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 20:00 น.
720

วันศุกร์ที่ 30 ก.ค. 2564 มีงานสัมมนาวิชาการออนไลน์ “ยกระดับยางพาราไทยสู่ศูนย์กลางการค้ายางระดับโลก” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสถาบันคลังสมองแห่งชาติ และสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ต้นทุนยางพาราไทย : ต้อง “ปรับ 360 องศา” เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

งานนี้ถือเป็นอีกงานสัมมนายางฯ ที่รวม “กูรูยางพาราไทย” ไว้ทั้งหมด ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญยางพาราอยู่ในหลากหลายวงการ

 

แต่สำหรับนักวิชาการแล้ว ที่ทำงานวิจัยยางพารามาโดยตลอด ผมคิดว่าในประเทศไทยมี “นักวิชาการ 4 คน” คือ ศาสตราจารย์ ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข (ม.อ. หาดใหญ่) รองศาสตราจารย์ อาซีซัน แกสมาน (ม.อ.หาดใหญ่) ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร (ม.เกษตรศาสตร์) และ รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช (ม.หอการค้าไทย) ซึ่งทั้ง 4 อรหันต์ยางพาราอยู่งานสัมมนานี้ด้วย

 

ในฐานะวิทยากรด้วย ผมจะนำเสนองานวิจัยของผมหัวข้อ “การคำนวณต้นทุนยางพาราที่เหมาะสมเพื่อความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก” ทำไม “ต้นทุนยางพาราไทย” จึงไปเกี่ยวข้องกับศักยภาพการแข่งขันซึ่งในความหมายของผมเกี่ยวข้องกับ “ศักยภาพการแข่งขันทั้งในประเทศและตลาดโลก” ในตลาดโลกที่ต้องขายยางพาราไทยแข่งกับประเทศคู่แข่ง

 

ปัจจุบัน “ต้นทุนยางพาราไทยสูงกว่าคู่แข่ง” เช่น ต้นทุนยางก้อนถ้วยไทยอยู่ที่ 44.2 บาทต่อ กก. มาเลเซียอยู่ที่ 27.1 บาทต่อ กก. และเวียดนาม 29 บาทต่อ กก. แต่ต้นทุนยางพาราไทยก็ยังต่ำกว่าอินเดีย และใกล้เคียงกับกัมพูชา จะทำให้ราคาส่งออกยางไทยในตลาดโลกจะแพงกว่าราคาส่งออกของคู่แข่ง

 

ขณะเดียวกัน กระทบต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอุตสาหกรรมยางพาราในไทย จะทำให้ศักยภาพการดึงเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราของไทย “ลดลง” เพราะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ย่อมคำนึงถึงต้นทุนในการผลิต เมื่อต้นทุนวัตถุดิบยางพาราสูงกว่าวัตถุดิบของประเทศอาเซียนอื่น เค้าย่อมไปลงทุนในประเทศนั้นๆ มากกว่าไทย ในขณะที่ศักยภาพการแข่งขันภายในประเทศ ที่วัดจากผลผลิตต่อไร่ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาหลายสิบปี “ยังไม่เกิน 300 กก.ต่อไร่”

 

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่า การมีต้นทุนยางพาราสูง รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยจะใช้เป็น “เกณฑ์อ้างอิงในการแทรกแซงตลาดยางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” หากต้นทุนสูง การอ้างอิงราคาช่วยเหลือจะสูงตามไปด้วย ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล หากเราอ้างอิงจากต้นทุนที่เหมาะสมหรือต่ำกว่า จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศไปได้อีกมากโข ประเด็นนี้จะ “บั่นทอน” ศักยภาพการผลิตของประเทศ (วัดจากผลผลิตต่อไร่ที่ไม่เพิ่มขึ้น) จนทำให้ “ลืมที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่”

 

ต้นทุนยางพาราไทย : ต้อง “ปรับ 360 องศา” เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

 

การที่ต้นทุนยางพาราไทยสูงกว่าคู่แข่งมาจาก “1.โครงสร้างต้นทุนสูง” โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน (สัดส่วน 50%) ค่าต้นทุนคงที่ (25%) และค่าปุ๋ยและสารเคมี (10%) ของไทยสูงกว่าคู่แข่ง  2.วิธีคิดต้นทุนแตกต่าง ต้นทุนยางพาราไทยคิดต้นทุนทางบัญชีและเศรษฐศาสตร์รวมกัน ในขณะที่มาเลเซียคิดเฉพาะต้นทุนบัญชี อาจจะกล่าวได้ว่า ไทยคิดต้นทุนแบบ “2 x 3” ซึ่ง “เลข 2” คือการคำนวณต้นทุนบัญชีกับเศรษฐศาสตร์ ส่วน “เลข 3” คือคำนวณต้นทุนยางพาราแบ่งออกเป็น 3 ประเภทยางพาราคือ ต้นทุนน้ำยางสด ต้นทุนยางแผ่นและต้นทุนยางก้อนถ้วย โดยต้นทุนน้ำยางสดมีค่าสูงสุดตามด้วยต้นทุนยางแผ่น และยางก้อนถ้วย ตามลำดับ

 

ต้นทุนยางพาราไทย : ต้อง “ปรับ 360 องศา” เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

 

ในขณะที่มาเลเซียคิดแบบ “1 x 2” คือ เลข 1 คือการคิดต้นทุนแบบบัญชี และเลข 2 คือผลผลิตเป็นต้นทุนน้ำยางข้น (ปริมาณการผลิตสัดส่วน 30%) และต้นทุนยางก้อนถ้วย (ปริมาณการผลิตสัดส่วน 70%)  และ 3.แนวคิดการเก็บข้อมูล หน่วยงานรัฐฯ นักวิจัยและภาคเอกชนมีแนวทางการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน  ได้แก่ จำนวนต้นยางต่อไร่ ช่วงอายุของต้นยาง จำนวนวันที่กรีดต่อปี ระบบกรีด  การคำนวณเฉพาะต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนรวม การคำนวนค่าจ้างแรงงานตามระบบแบ่งผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนรายวัน ประเภทผลิตภัณฑ์ยาง ภูมิภาคที่ศึกษา และลักษณภูมิประเทศที่ศึกษา ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยางพาราที่คำนวณได้ในแต่ละที่มีความแตกต่างกัน

 

ต้นทุนยางพาราไทย : ต้อง “ปรับ 360 องศา” เพื่อศักยภาพการแข่งขัน

 

ต้นทุนยางพารา จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ผมขอเสนอแนะดังนี้ ครับ 1.กำหนดวัตถุประสงค์และแนวคิดในการคำนวณต้นทุนยางพาราของไทย “ใหม่” 2.ตั้ง “สำนักงานต้นทุนสินค้าเกษตรเพื่อการแข่งขันของชาติ” 3.กยท. รับผิดชอบทำต้นทุนโดยตรง 4.ต้นแบบการคำนวณต้นทุนยางพาราภายใต้มาตรฐาน “FSC” และ 5.ผลักดันการคำนวณต้นทุนยางพาราภายใน “BCG Economy”