มันสำปะหลังสู่ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ตลาดทดแทนพลาสติก-"ทรายแมว"มาแรง

12 ก.ค. 2564 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 19:25 น.
944

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง มันสำปะหลังสู่ "นวัตกรรมรักษ์โลก" ระบุตลาดทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก และตลาดสำหรับคนรักแมว สำหรับผลิตภัณฑ์ทรายแมวกำลังมาแรงและมีอนาคต

มันสำปะหลังสู่ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ตลาดทดแทนพลาสติก-\"ทรายแมว\"มาแรง

 มันสำปะหลังเป็น “พืชเศรษฐกิจอาเซียน” เพราะปลูกทุกประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์ ปี 2562 ทั่วโลกผลิต 303 ล้านตัน (www.tridge.com) แอฟริกาปลูกร้อยละ 56  เอเซียร้อยละ 33 (ร้อยละ 95 ปลูกในประเทศอาเซียน และอาเซียนคิดเป็น 25% ของผลผลิตโลก) และอเมริกาใต้ร้อยละ 11   โดยไนจีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังมากสุดในโลก ตามด้วยไทย อินโดนีเซียและบราซิลตามลำดับ

 

อาเซียนสามารถผลิตมันสำปะหลังในปี  2557 เท่ากับ 73 ล้านตัน  และปี 2564 คาดว่าผลิต 77 ล้านตัน (สศก.)  แม้ว่าอินโดนีเซียสามารถผลิตได้เป็นอันดับสองของอาเซียนก็ตาม แต่ส่งออกน้อยเพราะความต้องการใช้ภายในประเทศสูง อินโดนีเซียปลูกที่เกาะชวาและสุมาตรา  เวียดนามปลูกได้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางสามารถปลูกได้ถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ส่วนกัมพูชาปลูกที่จังหวัดกัมพงจาม  กัมพงสปรือ  บันเตียเมียนเจ้ย  พระตะบอง  และเสียมเรียบ ในขณะที่ สปป.ลาวปลูกที่จังหวัดบอริคำไส และคำมวน

 

 มันสำปะหลังได้รับการขนานนามว่าเป็น “พืชมหัศจรรย์” เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย “ผลิตภัณฑ์แป้งมัน” ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า กระดาษ ไม้อัด ผงชูรส  สารความหวาน กาว กรดมะนาว และยารักษาโรค ส่วน “ผลิตภัณฑ์มันเส้นและอัดเม็ด” ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แอลกอฮอล์และพลังงานทางเลือก หรือกล่าวได้ว่าใช้ใน “4F” คือด้านอาหารมนุษย์ (Food) อาหารสัตว์ (Feed) เชื้อเพลิงทดแทน (Alternative Fuel) และโรงงานอุตสาหกรรม (Industry Factory)

 

มันสำปะหลังไทยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะสามารถส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งแป้งมัน มันเส้นและมันอัดเม็ดปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังไทยในตลาดโลกช่วง 2-3 ปีมีแนวโน้มลดลง เช่นในปี 2558 ไทยส่งออก 47,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นสูงกว่ามูลค่าการส่งออกของปี 2554 ที่มีมูลค่าเพียง 3 หมื่นล้านบาท) แต่ในปี 2563 มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 2 หมื่นบาท ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการส่งออกของมันเส้นและอัดเม็ดเคยส่งออกสูงสุด 7.3 ล้านตันในปี 2558 และเหลือ 3 ล้านตันในปี 2563 ในขณะที่แป้งมันเคยส่งสูงสุด 9 หมื่นตัน ปี 2561 แต่ปี 2563 ส่งออกเหลือเพียง 5 หมื่นตัน (Trade Map)

 

มันสำปะหลังสู่ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ตลาดทดแทนพลาสติก-\"ทรายแมว\"มาแรง

 

ขณะที่ข้อมูลกรมศุลกากรไทยระหว่างปี 2558 ถึง 2563 มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทุกประเภทลดลงจาก 114,625 ล้านบาท เหลือ 82,965 ล้านบาท (อาจจะเป็นปัญหาจากโควิด) สำหรับสัดส่วนห่วงโซ่อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย พบว่าในจำนวนผลผลิตของปี 2563 ที่ผลิต 28.9 ล้านตัน ผลผลิตใช้ในประเทศ 30% (อยู่ในรูปบริโภคตรงโดยส่วนเป็นแป้งมันสัดส่วน 68% อาหารสัตว์ 20% และพลังงาน 11%) และส่งออกสัดส่วน 65% โดยเป็นการส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดมูลค่าสัดส่วน 98% ไปจีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้ารายใหญ่ที่สุดที่เหลือเป็นสัดส่วนการส่งออกแป้งมัน โดยลูกค้ารายใหญ่คือมาเลเซีย สปป.ลาว สหรัฐฯ นิวซีแลนด์และฮ่องกง เป็นต้น

 

มันสำปะหลังสู่ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ตลาดทดแทนพลาสติก-\"ทรายแมว\"มาแรง

 

นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง โดยจำนวนครัวเรือนที่ปลูกมันสำปะหลังเพิ่มจาก 5 แสนครัวเรือน และเพิ่มเป็น 7 แสนครัวเรือนในปี 2563 (สศก.) และจากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่าปี 2563 ไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง 8.9 ล้านไร่ ผลผลิต 28.9 ล้านตัน ผลผลิต 3.2 ตันต่อไร่ เพิ่มจากปี 2554 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 7 ล้านไร่ ผลผลิต 21 ล้านตัน ผลผลิต 3 ตันต่อไร่ และคาดการณ์ว่าในปี 2564 พื้นที่เก็บเกี่ยวเพิ่มเป็น 9.1 ล้านไร่ ผลผลิต 30 ล้านตันและ 3.1 ตันต่อไร่

 

แม้ว่าไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สำปะหลังได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทก็ตาม แต่การนำของเหลือจากมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์ เช่น ใบ (ทำอาหารสัตว์) กากมันสำปะหลัง (ทำอาหารสัตว์และพลังงานทางเลือก) เปลือกนอกและใน (ทำอาหารหมัก) และเหง้า (ทำถ่านอัดแท่ง เชื้อเพลิง ถ่านกำมันต์ และปุ๋ย) ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบสนองการบริโภคที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม การผลิตแบบยั่งยืน และช่วยลดภาวะโลกร้อนนั้น “มีน้อยมาก”  

 

ผมมี “2 ผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือใช้มันสำปะหลังแห่งอนาคต” ที่จะนำเสนอคือ 1.ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก เพราะนับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฏาคม 2564 เป็นต้นไป สหภาพยุโรป “ห้ามขาย” ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastics : SUPs) ได้แก่ ก้านสำลี ช้อนส้อม จาน เครื่องกวน ฝาขวดพาสติก และแท่งสำหรับลูกโป่ง รวมถึงถ้วยและภาชนะใส่อาหาร และใน “ปี 2030” ภาชนะที่ทำจากพาสติกในยุโรปทั้งหมดต้องเป็น “recycle เท่านั้น” เพราะยุโรปพบว่าว่า 85% ของขยะในทะเลเป็นพลาสติก โดยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งคิดเป็น 50% ของพลาสติกในทะเล (พาสติกอยู่ได้นาน 200 ปี ในขณะที่ถ้วยพลาสติกสามารถอยู่ได้นานถึง 450 ปี) ในโลกใบนี้ “มีการใช้ขวดพลาสติกใน 1 นาทีใช้ 1 ล้านขวด ใน 1 ชม. ใช้ 55 ล้านขวด และใน 1 วันใช้ 1,300 ล้านขวด” (Bioplastic News, September 8, 2019)

 

2.ผลิตภัณฑ์ทรายแมว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ “ทาสแมว” คือทรายแมว ที่ผ่านมาใช้มีการกระดาษหนังสือพิมพ์ ดินทรายคลุกเคล้าผสมกัน ขี้เลื่อยไม้ ขี้เถ้า ธุรกิจทรายแมวเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมาก เพราะคนนิยมอยู่เป็นโสด ไม่มีลูก ใช้ชีวิตลำพังมากขึ้นจึงเลี้ยงแมวเป็นเพื่อน สถิติประชากรผู้เลี้ยงแมวในปี 2017 จาก Dalia Research พบว่า 10 ประเทศที่มีผู้เลี้ยงแมวมากที่สุดในโลก (วัดต่อประชากรคนในประเทศตนเอง) ได้แก่ รัสเซีย (ร้อยละ 59) รองมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 43) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 41) ส่วนใทยอยู่อันดับที่ 8 (ร้อยละ 33)  

 

ขนาดตลาดของผลิตภัณฑ์ทรายแมวทั่วโลก มีมูลค่า 9.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และคาดว่าในปี 2571 จะเพิ่มขึ้นไปถึง 13.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.0 ต่อปี (ในช่วงปี 2564 ถึง ปี 2571)

(Grand View Research, Inc, 2021) และคาดว่าจำนวนผู้เลี้ยงแมวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งส่งผลดีต่อการอัตราการเติบโตของตลาดทรายแมว  

 

มันสำปะหลังสู่ “นวัตกรรมรักษ์โลก” ตลาดทดแทนพลาสติก-\"ทรายแมว\"มาแรง

 

สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดรัสเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งตลาดรัสเชีย Euromonitor International from official statistics รายงานว่า ในปี 2560 รัสเซียมีจำนวนประชากรแมวที่มีเจ้าของจำนวน 22 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีจำนวน 20 ล้านตัว ซึ่งมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์ Pet Care ในรัสเซียตั้งแต่ปี 2555 – 2560 ยอดการขายผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง (Pet Care) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 11-15 ต่อปี อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ครองตลาดถึงร้อยละ 91 ของมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์ Pet Care ทั้งหมด

 

ขณะที่ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง (Pet Products) มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 9 โดยผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายมากที่สุด คือ อาหารแมว (มูลค่า 130 พันล้านรูเบิล หรือประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาเป็นอาหารสุนัข (มูลค่า 39 พันล้านรูเบิล หรือประมาณ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทรายสำหรับถ่ายของเสียแมว (12 พันล้านรูเบิล หรือประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

 

โดย Euromonitor คาดว่าในปี 2565 ตลาดทรายแมวในรัสเซียจะอยู่ที่ 17 พันล้านรูเบิล หรือประมาณ 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 30 เช่นเดียวกับการเติบโตของจำนวนสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ จากการสำรวจ national pet owners survey พบว่าในปี 2560 มีแมวประมาณ 94.2 ล้านตัวอาศัยอยู่ในครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นจาก 88.3 ล้านตัวในปีปี 2555 หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ไทยมีของเหลือมันสำปะหลังในแต่ละปีมากพอที่จะนำไปผลิตภัณฑ์ทั้งสองในตลาดโลก และถ้าสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือใช้ของมันฯ มาทดแทนผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์แมวได้ “เงินจะเข้าประเทศไทยมากโขทีเดียว”