new-energy

รถ EV-ขนส่งทางรางมาแรง ฉุดยอดใช้นํ้ามันกลุ่มเบนซินร่วง

    กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงรอบ 11 เดือน ปี 2567 ขยายตัว 2% ตามภาวะเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ประชาชนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าและระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ฉุดยอดการใช้นํ้ามันกลุ่มเบนซินขยายตัวตํ่า

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาพรวมการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิง เฉลี่ยในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) 2567 อยู่ที่ 155.22 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สอดคล้องกับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยของปี 2567 ที่ขยายตัว 2.6-2.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยยอดจำหน่ายนํ้ามันดีเซลหมุนเร็ว ของสถานีบริการเพิ่มขึ้น 2.4% นํ้ามันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 18.4% การใช้ LPG เพิ่มขึ้น 3.4% และกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นเล็ก 0.02 % ขณะที่การใช้นํ้ามันเตาลดลง 7.2% และ NGV ลดลง 16.7%

สำหรับการใช้นํ้ามันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.02 % จากการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.98 ล้านลิตรต่อวัน และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.40 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.42 ล้านลิตรต่อวัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.41 ล้านลิตรต่อวัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตรต่อวัน

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ทั้งนี้ ในภาพรวมแม้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะขยายตัว แต่การใช้นํ้ามันกลุ่มเบนซินได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) คิดเป็น 5.39 % ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสาร 12.143 %

ขณะที่การใช้นํ้ามันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 66.66 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.4 % ประกอบด้วย ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.51 ล้านลิตรต่อวัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ การขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว จากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม -30 พฤศจิกายน 2567

รวมทั้งในภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ ส่วนดีเซลหมุนเร็วบี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.96 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากในปีก่อนมีการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณการใช้นํ้ามันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 68.62 ล้านลิตรต่อวัน

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้นํ้ามันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 15.73 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 18.4 % มีปัจจัยมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 31.9 ล้านคน คิดเป็น 28.2 % ประกอบกับมาตรการในช่วงปลายปี 2567 กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัว 8.594 % รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศอีกด้วย

อีกทั้ง การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.40 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.4 % ประกอบด้วยการใช้ในภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.29 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.78 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.32 ล้านกิโลกรัมต่อวัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.01 ล้านกิโลกรัมต่อวัน

ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.79 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 16.7% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567-31 ธันวาคม 2568)

สำหรับการนำเข้านํ้ามันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,037,176 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 1.2 % คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 93,900 ล้านบาทต่อเดือน เป็นการนำเข้านํ้ามันดิบอยู่ที่ 981,548 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 0.7 % คิดเป็นมูลค่าการนำเข้านํ้ามันดิบอยู่ที่ 89,989 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับการนำเข้านํ้ามันสำเร็จรูป (นํ้ามันเบนซินพื้นฐาน นํ้ามันดีเซลพื้นฐาน นํ้ามันเตา นํ้ามันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 55,627 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 26.7 % คิดเป็นมูลค่าการนำเข้านํ้ามันสำเร็จรูปอยู่ที่ 3,911 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่การส่งออกนํ้ามันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 186,067 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.4 % เป็นการส่งออกนํ้ามันเบนซิน นํ้ามันดีเซล นํ้ามันเตา นํ้ามันอากาศยาน นํ้ามันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,933 ล้านบาทต่อเดือน