sustainability

"กระทรวงอุตฯ" ยกระดับโลจิสติกส์ไทยลดปล่อยคาร์บอน 5.8 พันตันต่อปี

    "กระทรวงอุตฯ" ยกระดับโลจิสติกส์ไทยลดปล่อยคาร์บอน 5.8 พันตันต่อปี มุ่งพัฒนาเตรียมความพร้อมในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ดันเศรษฐกิจโต 200 กว่าล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) 

ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ผ่านกระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model โดยการพัฒนาให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น 

ทั้งนี้ คาดว่าจะขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี 
 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการโดยการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นกติกาทางการค้า

"กระทรวงอุตฯ" ยกระดับโลจิสติกส์ไทยลดปล่อยคาร์บอน 5.8 พันตันต่อปี

"กระทรวงฯจะเร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ"

นอจากนี้ ยังต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG-driven Enterprise)
 

ลดต้นทุนการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Biomass) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการ (Upcycled Product) 

และได้ดำเนินการกระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตที่มีคลังสินค้าและ/หรือขนส่งของตนเอง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider) เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้สามารถรวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมที่จะขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) 

รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนขององค์กร โดยเฉพาะระบบการ Tracking รถขนส่งเพื่อติดตามเส้นทาง พฤติกรรมการขับขี่ และประสิทธิภาพการใช้รถ ซึ่งมีสถานประกอบการผ่านการคัดเลือกจำนวน 25 ราย โดยคาดว่าจะสามารถขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมที่จะยื่นขอใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กร (CFO) จำนวน 5 กิจการ