new-energy

เปิดนโยบายพลังงานปี 68 เล็งเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ลุยไฟฟ้าสีเขียว

    กระทรวงพลังงาน เปิดนโยบายขับเคลื่อนปี 2568 ชูความมั่นคงพลังงาน เล็งเปิดยื่นสำรวจแหล่งปิโตรเลียมบนบก รอบที่ 25 และในทะเลฝั่งอันดามันรอบ 26 พร้อมเร่งจัดหาไฟฟ้าสีเขียว รองรับนักลงทุน Data Center และส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ไฮโดรเจน SAF และ CCS

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนหรือนโยบายพลังงานของประเทศในปี 2568 กระทรวงพลังงาน จะยึดหลักสำคัญ 3 ด้านที่ต้องคำนึงควบคู่กันเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน ราคาเป็นธรรมแข่งขันได้ และพลังงานคาร์บอนตํ่าที่จะมาพลิกโฉมพลังงานไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ประเทศยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติและนํ้ามัน ทำให้ต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยในปี 2568 จะเปิดให้มีการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกรอบ 25 ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คาดว่าจะมีปริมาณทรัพยากรนํ้ามันดิบประมาณ 5.76 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติประมาณ 20.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และคาดว่าจะมีเงินลงทุนในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไม่น้อยกว่า 73.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รวมถึงการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลรอบ 26 บริเวณพื้นที่ฝั่งอันดามัน จากที่ผ่านมาเคยเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจมาแล้วครึ้งหนึ่ง แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจ เนื่องจากเป็นแหล่งนํ้าลึกยากต่อการสำรวจ แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจปิโตรเลียมในนํ้าลึกได้ ประกอบกับมีผู้สนใจหลายรายได้เข้ามาหารือกับกระทรวงพลังงานแล้ว จึงคาดว่าจะมีโอกาสพบเจอปิโตรเลียม

เปิดนโยบายพลังงานปี 68 เล็งเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ลุยไฟฟ้าสีเขียว

“จากการสำรวจพบปิโตรเลียมในบริเวณข้างเคียงทะเลอันดามัน ที่มีการพบปริมาณทรัพยากร ซึ่งทำให้อาจค้นพบปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ขอสิทธิสำรวจ”

นอกจากนี้ เขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทยกับกัมพูชา หรือ OCA ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่มาก และเป็นความหวังที่กระทรวงพลังงานอยากจะให้มีการพัฒนาขึ้นมา เพราะจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันดิบเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าพลังงาน จากปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้ากว่า 75% เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่ใกล้กับแหล่งเอราวัณ ในอ่าวไทย ที่ไทยพัฒนาอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถูกลงและลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากประเทศได้

ส่วนจะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมขึ้นมาได้เมื่อใดนั้น คงขึ้นอยู่กับการเจรจาของรัฐบาล ว่าจะเดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน บนพื้นฐานเกิดประโยชน์ให้กับประเทศไทยมากที่สุดและไม่เสียดินแดน

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะเร่งส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดให้มากขึ้น จากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมีสัดส่วนราว 26% จากก๊าซธรรมชาติ 59.9% ถ่านหินลิกไนต์ 14.4% ซึ่งในปี 2568 การจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 คาดว่าจะประกาศมาใช้ได้ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจะเพิ่มเป็น 51% และสัดส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงเหลือ 41% ถ่านหินถ่านหินและลิกไนต์ ลดลงเหลือ 7% ภายในปี 2580

ทั้งนี้เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ที่แต่ละประเทศมีเป้าหมายชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นเงื่อนไขด้านการค้า การลงทุนในอนาคต

อีกทั้ง เร่งส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อรองรับไทยเตรียมเป็น Digital Hub ของอาเซียน โดยพบว่ามีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท โดยสิ่งหลักที่โครงการดังกล่าวต้องการคือไฟฟ้าสะอาด

ดังนั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเรื่อง Direct PPA ราว 2,000 เมกะวัตต์ ตามร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ ที่จะประกาศออกมา รวมถึงนโยบายไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff ที่จะต้องกำหนดออกมารองรับเอาไว้

ดร.ประเสริฐ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังต้องเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ให้เกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหรือ Energy Transition และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยในปี ค.ศ.2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065

ด้วยการเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ เพื่อรองรับการใช้งานพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งในร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ มีการกำหนดที่จะให้นำไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติในท่อก๊าซธรรมชาติต้นทางฝั่งตะวันออกสัดส่วน 5% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า (On-grid) ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป

รวมถึงการนำไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทย ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำร่องในพื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีแล้ว

อีกทั้ง การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ มาใช้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ให้เพียงพอต่อการเริ่มใช้งานในปี ค.ศ.2026 จากปัจจุบันมีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นรายแรกที่ใช้นํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วเป็นวัตถุดิบซึ่งไม่เพียงพอ โดยจะส่งเสริมให้มีการนำนํ้ามันปาล์มดิบหรือ CPO มาใช้ผลิตเป็น SAF ต่อไป

รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนการใช้ประโยชน์แหล่งปิโตรเลียม ให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ผ่านโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ ของบริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ให้เป็นรูปธรรม คาดว่าจะเริ่มใช้ได้จริงในปี ค.ศ.2028 และการศึกษาพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน แหล่งบนบกอย่างแอ่งแม่เมาะ จ.ลำปาง และแอ่งนํ้าพอง จ.ขอนแก่น เป็นต้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางญี่ปุ่นร่วมศึกษาศักยภาพการกักเก็บในแต่ละพื้นที่

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,052 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567