ความคืบหน้าเป็นลำดับสำหรับการก่อสร้างโรงผลิตนํ้ามันอากาศยานยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF จากนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำพลังงานแห่งอนาคต หลังจากได้เริ่มก่อสร้างหน่วยผลิตนํ้ามัน SAF ในพื้นที่โรงกลั่นนํ้ามันบางจาก พระโขนง เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 70% ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นกว่า 7 พันบาร์เรลต่อวัน โดยนำนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทาง อื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต (UCO-to-SAF)
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ มีการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิต SAF จาก นํ้ามันใช้แล้วจากการปรุงอาหารผ่าน บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ด้วยมูลค่ากว่า 8.5 พันล้านบาท และใช้เงินทุนหมุนเวียนในการจัดหานํ้ามันใช้แล้วเพื่อใช้ในการผลิตอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีกำลังผลิตที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน หรือราว 360 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณสูงและอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม กับปริมาณการใช้นํ้ามันเครื่องบินในประเทศไทย ที่มีอยู่ 15-16 ล้านลิตรต่อวัน
ทั้งนี้ โรงผลิตดังกล่าวได้ก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ซึ่งจะเป็นโซลูชั่นให้กับอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) กำหนด
ขณะที่สหภาพยุโรปได้กำหนดให้เครื่องบินที่จะบินไปในกลุ่มประเทศยุโรปต้องเพิ่มสัดส่วนของส่วนผสมระหว่างนํ้ามันอากาศยานยั่งยืน (SAF) กับนํ้ามันเชื้อเพลิง Jet Fuel 2% ในปี 2568 จนถึง 5% ในปี 2573 ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีการเรียกเก็บค่าปรับเป็นมูลค่า 2 เท่าของส่วนต่างระหว่างราคานํ้ามันอากาศยานยั่งยืน (SAF) และราคานํ้ามันอากาศยาน (Jet Fuel) ซึ่งจากราคานํ้ามันปัจจุบันค่าปรับจะอยู่ที่ประมาณ 90 บาทต่อลิตร
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบางจากมีหน่วยรับซื้อรายย่อยผ่านการเปิดหน่วยรับซื้อตามสถานีบริการประมาณ 293 แห่ง และมีลูกค้าที่ส่งต่อนํ้ามันมาผลิตเป็น SAF อีก 527 จุด รวมเป็น 820 จุด ตามโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” มีปริมาณเฉลี่ยวันละ 2,900 ลิตร รับซื้ออยู่ที่ประมาณ 21 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาอาจปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดของราคานํ้ามันก่อนใช้ โดยยังไม่รวมจากบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ที่รวบรวมให้อีกกว่า 15,000 ตันต่อเดือน ซึ่งการใช้วัตถุดิบบางจากตั้งเป้าหมายจะจัดหาภายในประเทศให้มากที่สุดราว 55-60% ส่วนที่เหลือ 40-45% จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศมาเสริม
ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในการจัดหานํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วอีกด้วย
ขณะที่ราคาขาย SAF จะอยู่ที่ประมาณ 62-65 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคานํ้ามันอากาศยาน (Jet Fuel) ซึ่งอยู่ที่ประมาณลิตรละ 25-26 บาทต่อลิตร หากโรงกลั่นสามารถเปิดผลิตและจำหน่าย SAF ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 จะช่วยให้บางจากมีรายได้เพิ่มในช่วง 8 เดือนของปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และและหลังจากนั้นในปีต่อ ๆ ไป เมื่อผสมในสัดส่วน 2% จะส่งผลให้มีรายได้ราว 2.5- 3 หมื่นล้านบาท ขึ้นกับราคา SAF ในช่วงนั้น ๆ
สำหรับการทำสัญญาซื้อขายนั้น จะกำหนดสัดส่วนเป็นสัญญาระยะยาว 60% ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการเข้าทำสัญญาซื้อขายนํ้ามันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ระยะยาวที่จะผลิตได้กับผู้ซื้อ (Oftaker) ไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ บริษัท คอสโม ออยล์ จำกัด จากญี่ปุ่น ที่จะนำเข้า SAF ไบโอแนฟทา และไบโอเอทานอล เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมถึงบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ในการนำเข้า SAF และร่วมมือในการจัดหานํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาทำสัญญากับผู้ซื้อที่มีศักยภาพอีก 2 ราย ส่วนอีก 40% จะเป็นสัญญาซื้อขายในรูปแบบราคา Spot price
ส่วนจะมีการขยายกำลังการผลิต SAF ขึ้นไปอีกหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการ SAF มีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขนาดกำลังการผลิตที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการใช้นํ้ามันเครื่องบินภายในประเทศที่มีอยู่ราวเกือบ 20 ล้านลิตรต่อวันได้ แต่หากในอนาคตมีความต้องการ SAF เพิ่มขึ้น โรงกลั่นบางจากก็สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไประดับที่ 1.5 ล้านลิตรต่อวันได้
ทั้งนี้ ด้วยการผลิต SAF ปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 80,000 ตันต่อปี สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัทบางจากในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
ข่าวที่เกี่ยวข้อง