นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวเสวนาเรื่อง "Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ" ในงาน FPO Symposium 2024 "Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียว นโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว" ว่า ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางตรงเรื่องภัยธรรมชาติ ลำดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และในทางอ้อมได้รับผลกระทบเรื่องการเตรียมตัวสู่การแข่งขันทางการค้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว
สำหรับประเทศที่มีคาร์บอนเครดิตและที่ทำเยอะที่สุด คือ เวียดนาม แต่ประเทศที่ลงทุนเยอะที่สุด คือ ไทย ซึ่งการจัดอีโคซีสเต็มในประเทศ เป็นเรื่องที่จำเป็น โดยกระทรวงการคลังก็จะผลักดันมาตรการทางการเงิน การคลัง เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ
“สิ่งที่คลังสามารถทำได้ตอนนี้ คือ เรามีเครื่องมือทางภาษี และการเงิน ซึ่งสมาคมธนาคารไทยก็ฝากเรื่องดอกเบี้ยที่เหมาะสม สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน รวมทั้งเรื่องภาษีเราก็มีแนวที่จะทำ เช่น การให้มาตรการทางภาษีสำหรับการใช้โซลาร์ รูฟท็อป และการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอพ.ร.บ.อากาศสะอาดมีผลบังคับใช้”
ขณะที่การเดินหน้าสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ได้เปรียบการแข่งขันคาร์บอนของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอยากเปรียบเทียบคู่ชกกับสิงคโปร์ เนื่องจากเรากำลังจะไปข้างหน้า ในหลายๆ มาตรการที่ภาคจะรัฐดำเนินการ โดยช่วงเช้า สศค. ได้พูดถึงหลักพัฒนาแนวคิด เพื่อวางกรอบนโยบาย และวางแนวนโยบายการเงิน และการคลัง 4 หลัก ได้แก่
1.การยกระดับ จะทำทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง โดยจะยกระดับห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร ซึ่งพื้นที่ในประเทศไทย 140 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร และกว่า 70-80% เป็นการทำนา ซึ่งจะมีการเสนอมาตรการทางการเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อเพื่อการผ่อนปรน ผูกกับเงื่อนไขคาร์บอนเครดิต เพื่อนำผลตอบแทนมาลดเงินต้น หรือลดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร
2.การผลักดัน ให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่ภาครัฐทำ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้ธุรกิจปรับตัวสู่การเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีผู้ประเมินเข้ามาวัดการหักค่าใช้จ่าย เพื่อให้มาหักสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
3. Empower การทำให้ภาคธุรกิจมีทรัพยากรบุคคลและความรู้เพียงพอรับเศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยจะต้องใช้เครื่องมือทางการเงิน และภาษี โดยหากอยากให้ตลาดดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ต้องมีการอบรมสัมมนาให้ความรู้เพิ่มเติม
4.Engage การร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจ การขับเคลื่อน โดยการสร้างอีโคซีสเต็มนั้น จะต้องมีการพัฒนาระบบให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนั้น จะต้องคำนึงถึงหลักวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งการลดหย่อนภาษี หรือหักค่าใช้จ่ายมากกว่าปกตินั้น รัฐบาลจะมีการวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะใช้ตัวแทนประเมินคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นคนกลางเข้ามาช่วย ทั้งนี้ หากใช้มาตรการภาษีประชาชนจะได้รับประโยชน์ และเมื่อคำนวณดูแล้วจะมีความคุ้มค่ากับการพัฒนาประเทศ
“ต้นทุน หรือสิ่งที่เรากระทำไปตอบโจทย์การลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น สิ่งแรกที่ลงทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ได้ตามมา คือ เกิดการลงทุนใหม่ ทำให้เพิ่มการลงทุนในประเทศอีกมิติหนึ่ง เกิดการจ้างงาน และถัดมา ผลจากการลงทุน จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งยอมรับว่าในระยะแรกมีการลงทุนต้นทุนสูง แต่อาจจะนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน และลดต้นทางพลังงานมากยิ่งขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง