‘สมิติเวช’ แนะ เส้นทางมั่งคั่งยั่งยืน 'บริหารจัดการเหมาะกับสถานการณ์’ 

22 เม.ย. 2566 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2566 | 14:14 น.

ในโลกของผู้นำ การบริหารจัดการให้เหมาะและถูกต้องตามสถานการณ์นั้นๆ (Situation Management)ถือว่าเยี่ยมยอด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ 

“นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช ได้แนะแนวทางและหยิบยกหลักคิดที่น่าสนใจ ให้กับผู้บริหารที่เข้าร่วมหลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW#2 ขุมทรัพย์แห่งปัญญา รอบรู้ทุกมิติการลงทุน สู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ

  ‘สมิติเวช’ แนะ เส้นทางมั่งคั่งยั่งยืน \'บริหารจัดการเหมาะกับสถานการณ์’ 
ซีอีโอ โรงพยาบาลสมิติเวช เกริ่นว่า ความสำเร็จอยู่ที่การลงมือทำ และหากไม่ลองทำปัญญาก็ไม่เกิด เพราะปัญญาเกิดจากการตัดต่อแต่งเติมการปฎิบัติ แต่สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือ ถ้าไม่มีสุขภาพที่ดี ก็คือ ไม่มีภูมิปัญญา (wisdom)ที่ดี และคนเราจะมี Wealth หรือความมั่งคั่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต่อเมื่อ ต้องมีสุขภาพที่ดีเสียก่อน
 นี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิด Wealth 

หากแต่การจะทำให้เกิด Wealth ผู้นำหรือผู้บริหาร ยังต้องรู้จักการจัดการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Situation Management) โดย “นพ.ชัยรัตน์” ยกตัวอย่าง Jack Welch ซีอีโอของบริษัท General Electric หรือ จีอี (GE) เขาไล่คนออก 59% จนทำให้บริษัทของเขาเติบโต พอมาถึงรุ่นของ Jeff Immelt บริหารงานแบบสั่งคนเดียวไม่ฟังใคร บริษัทลงดิ่งอย่างเดียว หุ้นลงไปสิบเท่า
  ‘สมิติเวช’ แนะ เส้นทางมั่งคั่งยั่งยืน \'บริหารจัดการเหมาะกับสถานการณ์’ 

Bill Gates อดีตซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ก็เป็นอีกคนที่บริหารแบบ ตัวเองเป็นศูนย์กลาง (centralized management) แต่พอเป็น Steve Ballmer เขาทำเรื่องโปรดักส์ ทำให้แข่งขันได้ และสร้างอาณาจักรให้ดีเลิศ ทำโปรดักส์ดี เหนือกว่าคู่แข่ง พอมา Satya Nadella เขาเปลี่ยนแปลง บริหารให้พนักงานมีความสุข และทำให้ไมโครซอฟท์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่า ในแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ละยุค ต้องใช้ปัญญาและแนวทางการบริหารที่ต่างกันของผู้นำ และเมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 -2023 กราฟการเปลี่ยนแปลงพุ่งขึ้นสูง มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา จนในปีค.ศ. 2023-2033 การเปลี่ยนแปลงก็ยังสูงมากอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้น ผู้บริหารยิ่งต้องเร็ว ต้องไวที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องรู้จักการจัดการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Situation Management) 
 

“นพ.ชัยรัตน์” บอกว่า ปัญญาเกิดจากปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่เกิดปัญญา และ เมื่อมีปัญหา มันจะเกิด wealth ความมั่งคั่ง การมีปัญหา หรือ มีโจทย์ดีๆ ให้แก้ไข จึงทำให้เกิดแผนที่ดี อย่างช่วงโควิด คือ โจทย์ ทำให้เกิดแผนดีๆ ในการแก้ไข และวางแผนเดินหน้าธุรกิจโรงพยาบาลสมิติเวช ช่วงนั้นคุณหมอใช้ “หลัก 4 ป้อง 1 ฉวย” ในการบริหาร
 

คุณหมอขยายความ “หลัก 4 ป้อง 1 ฉวย”ว่า ป้องที่หนึ่งคือ ป้องคน ช่วงโควิดระบาดหนัก สมิติเวชสร้างคุณค่าให้เขา ตรวจ ATK มีการลงทุน เพื่อดูแลพนักงาน ดูแลลูกค้า และชุมชนโดยรอบ ป้องที่สอง คือ ครัว คือ ดูแลต้นทุน แต่อย่าไปตัดอะไรที่เป็นอนาคต และตัดอะไรที่ไม่ใช่คนก่อน เพราะตัดคน เราก็เหนื่อย และคนจะต่อต้าน 
 

ป้องที่สาม คือ ป้องเงิน ถ้ารายได้ลด ก็ต้องจัดการต้นทุนให้ลดลง และสุดท้ายคือ ป้องงาน คือ การเจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ดิวที่ดีที่สุด ส่วนอีกหนึ่งฉวย คือ เปลี่ยนสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น เปลี่ยนงานเป็นเงิน เปลี่ยนงานทำให้เขาได้เงินด้วย เช่น การรวมแผนก เพราะคนไข้น้อยลง เปลี่ยนหรือเพิ่มหน้าที่ แจกงานพร้อมผลตอบแทน จะกระตุ้นให้ได้ทั้งงาน และพนักงานก็ได้เงินเป็นค่าตอบแทน องค์กรก็มีรายได้ 

‘สมิติเวช’ แนะ เส้นทางมั่งคั่งยั่งยืน \'บริหารจัดการเหมาะกับสถานการณ์’ 
หลักคิดของ “นพ.ชัยรัตน์” ไม่ได้ผูกเงื่อนตายไว้กับตำรา แต่เป็นการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง ปรับใช้ ตามประสบการณ์และความเหมาะสม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ทัน หรือเร็วกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผ่านมา คุณหมอมองไปที่ “www-โวย วอทน์ ว้าว” คนไข้โวยอะไร ต้องดูและรู้ว่าคนไข้ต้องการอะไร และเขาจะว้าวอะไร ต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาปัจจุบัน ถ้าทำได้แค่แก้ปัญหาปัจจุบัน นั่นหมายความว่า ท่านหรือองค์กรกำลังถอยหลัง ... เปลี่ยนเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ให้ควบคุมได้ ถ้าคุมไม่ได้จริงๆ ให้ย่อยปัญหาลงเป็นส่วนๆ ทีนี้จะทำให้เจอสิ่งที่ควบคุมได้


 “นพ.ชัยรัตน์” ยังพูดถึงปัญญา ว่าสามารถเกิดได้จากหลายแนวทาง ทั้งความอยากส่วนตัว หรือ Passion การมองเห็นปัญหาและการแก้ปัญหา การคิดนอกกรอบ การปรับจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง หากเป็นคนขี้เกียจอ่านก็ต้องฟังเยอะๆ ฟังแล้วนำมาคิด และลงมือทำ 
 

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องการความก้าวหน้า ต้องไม่ใช่แค่เก่งหรือมีปัญญาแล้วจบ หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ผู้นำที่ดีต้องรู้จักที่จะ “ทำลายตัวเอง ทำลายแล้วสร้างใหม่”... ทำไว้หลายๆ scenario หรือสถานการณ์ หลายๆ รูปแบบ ต้องรู้จักที่จะ Un Learn - Re Learn พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องมองไปข้างหน้า อีก 5 ปีจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลองทำแล้วไม่ถนัด ต้องรู้จักที่จะเลือกทำ หรือไปหาคนอื่นมาช่วยทำ 
 

“สมิติเวชทำเรื่องเฮลท์เทค การรวมศูนย์ ทำดาต้า เราต้องแปลงร่างดาต้ามาเป็นอินฟอร์เมชั่น แล้วปรับใช้ ความสำคัญอยู่ที่การรปรับใช้ให้เหมาะสม ความคิดสร้างสรรค์ สร้างให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ” 
 

ทีมงานที่คัดเลือกมา ก็ต้องมีความหลากหลาย เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อน เป็นการกระตุ้น คนเทาๆ กล้าได้กล้าเสีย คิดต่างได้เยอะ ผู้บริหารต้องรู้จักที่จะปล่อยให้เขาคิดต่าง แต่ถ้าเขาคิดเลยเถิด ก็ต้องหาคนมาปิดช่อง ทำให้เหลือประตูเดียว แล้ววิ่งต่อได้ 
 

ทั้งหมดนั่นคือ ยุทธวิธีที่ “นพ.ชัยรัตน์” ใช้ในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรของสมิติเวชจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเขาไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แค่ความสำเร็จปัจจุบัน แต่ยังพยายามคิดต่าง มองอนาคต และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แล้วก้าวนำไปข้างหน้า โดยไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ...แค่ไม่ยึดติด ก็สำเร็จไปแล้ว 50%...ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นแนวทางที่ผู้บริหารในโลกปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ได้ และพัฒนาต่อได้เช่นเดียวกัน

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2566