“ณัฐพล ไกรสิงขร” หรือ “โอ๊ต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง SpaceCloud เวปแพลทฟอร์มที่ทำให้คนเข้าถึงดาต้าที่จำเป็น ในการเลือกทำเลค้าขาย เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านทั้งงานบริษัทมาแล้ว และออกมาสร้างธุรกิจของตัวเองในรูปแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวจนต้องปิดตัว
หลังจากเรียนจบ “โอ๊ต” ทำงานในองค์กรใหญ่ ทั้ง ไอบีเอ็ม ในตำแหน่งโปรเจคแมเนเจอร์ ซิตี้แบงก์ ดูแลเรื่องความเสี่ยงตลาดหุ้นในมุมโอปอเรชั่น และทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทยในยุคก่อน ในฐานะผู้วางกลยุทธ์ทรานสฟอร์เมชั่น จนกระทั่งมาเริ่มเป็นสตาร์ทอัพ ร่วมกับน้องชาย ในนาม ConvoLab บริษัทด้าน AI/NLP ที่ทำผลิตภัณฑ์ด้านแชทบ็อตขององค์กร จนมีลูกค้า 40-50 ราย ก็ถูกซื้อกิจการโดย Eko และตั้งบริษัทแม่ใหม่ชื่อ Amity มาดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในเครือ
ระหว่างนั้น “โอ๊ต” ก็ออกมาตั้ง บริษัท เอริสดอทเอไอ (Arislab.ai) ผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการ ไลฟ์ LIVE Platform ซึ่งช่วงปี 2561 ถือว่าแพลทฟอร์ม Live ขายของบูมมาก และเอริสฯ ถือเป็นบริษัทระดับกลางๆ แต่เปิดมาได้แค่ปีครึ่งก็ต้องหยุด เนื่องจากการวางโครงสร้างธุรกิจไม่ค่อยดี เมื่อจบบริษัท ConvoLab จึงทำให้ได้รับผลกระทบ จนต้องปิดไปในที่สุด
จนกระทั่งมาเริ่ม SpaceCloud ได้ปีกว่าๆ จาก Pain Point ที่ต้องการเปิดร้านกาแฟร่วมกันแฟน แต่หาข้อมูลในการเลือกทำเลแบบครบวงจรไม่ได้ ที่มีบ้างก็ตกๆ หล่นๆ ไม่ครบถ้วน ด้วยความที่เป็นเอ็นจิเนียร์ที่มีความถนัดด้านระบบอยู่แล้ว จึงสร้างเวฟแพลทฟอร์ม SpaceCloud ขึ้นมาตอบโจทย์ ทำให้คนที่ต้องการเลือกหาทำเล เพื่อเปิดร้าน เปิดกิจการ สามารถเลือกทำเลได้ง่ายๆ
“เราอยากจะทำให้ร้านค้า 3-5 แสนร้านค้าที่เปิดต่อปี เวลาเขาเลือกทำเลแล้ว เขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น จากสถิติที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน”
ตอนนี้ SpaceCloud ทำข้อมูลทำเลในกรุงเทพฯ ใข้เวลาปีครึ่ง มีพาร์ทเนอร์ หรือข้อมูลทำเลกว่า 200 กว่าแห่ง ซึ่งถือเป็น 15% จาก 1,500 ทำเลทั่วกรุงเทพฯ ที่คนสนใจ ในขณะที่ทำเลทั่วประเทศ จะอยู่ที่ราว 15,000 ทำเล หรือถ้าเป็นยูนิตคือ หลักแสนยูนิต
ผู้ที่สนใจเลือกหาทำเลในการทำธุรกิจสามารถเข้ามาหาข้อมูลทั่วไปได้ในส่วนของฟรีเทียร์ ในเวป https://app.getspacecloud.co/ ที่ถือว่ามีข้อมูลมากกว่าเวปอื่นๆ แต่หากต้องการข้อมูลที่ลึกขึ้นละเอียดขึ้น เช่น ทราฟฟิคดาต้า ก็สามารถกดเข้าไปดู ราคาค่าเช่า ทำเลอยู่ใกล้อะไรบ้าง ฟลอร์แพลนเป็นอย่างไร ยูนิตที่ว่างราคาเท่าไร ร้านค้ารอบข้างคือใคร พื้นที่เป็นอย่างไร คนที่เดินเข้ามาในทำเลนั้นมีโปร์ไฟล์อย่างไร รายได้เยอะหรือน้อย โดยเสียค่าบริการทำเลละ 499 บาท และ SpaceCloud ยังมีบริการให้คำปรึกษา สำหรับคนที่ดูแล้วไม่เข้าใจ หรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมได้อีกด้วย
“โอ๊ต” บอกว่า ข้อมูลในเวปจะอัพเดทตลอดเวลา เพราะเป็นข้อมูลจากพาร์ทเนอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือการลงสำรวจ ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของทีมงานเอง
เป้าหมายธุรกิจของ “โอ๊ต” แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก ซึ่งเป็นช่วงของการเริ่มต้นที่มีพนักงานไม่เกิน 20 คน เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีระบบขั้นตอนอะไรมาก แต่ทุกคนจะรู้เป้าหมายขององค์กร มีหน้าที่หลักที่รับผิดชอบ แต่เมื่อเกิดปัญหาทุกคนจะสามารถเข้ามาระดมสมองช่วยกันได้ทันที
เฟสที่ 2 จะเริ่มมีพนักงานเกิน 20 คน จะต้องเริ่มวางระบบ มีลีดเดอร์ของแต่ละทีม แล้วมาคุยกัน เริ่มมีเคพีไอ ต้องคุยกันว่าแต่ละไตรมาสจะเดินไปทางไหน ต้องทำอย่างไร ซึ่งเฟสนี้ เรียนรู้มาจากบริษัทแรก คือ ConvoLab ส่วนเฟสที่ 3 ซึ่งได้เรียนรู้มาในช่วงทำงานองค์กร เป็นช่วงที่พนักงานมีจำนวนมากมีหลายระดับ ตรงนี้จะต้องวางวัฒนธรรมองค์กร ซึ่ง “โอ๊ต” เซ็ทไว้ว่า Freedom with Responsibility ทุกคนมีอิสระของการทำงาน ไม่มีใครต้องถามว่าต้องเข้าออฟฟิศวันไหน เขา้กี่วัน แต่งตัวอย่างไร โดยงานจะถูกเซ็ทหน้าที่แต่ละคนชัดเจน พร้อมผลของงานที่จะต้องได้มา โดยมีวัฒนธรรมองค์กรในการกำกับ โดยผู้นำแต่ละทีมต้องมั่นใจว่า สามารถคัดเลือกคนที่ใช่เข้ามาทำงานได้จริง
“โอ๊ต” บอกว่า ตอนนี้ SpaceCloud ยังอยู่ในเฟสแรก น้องๆ ทุกคนทำงานเต็มที่ พร้อมวิ่งชนและมีความสนุกที่จะสร้างผลงาน สิ่งที่ท้าทายสำคัญเขาในตอนนี้ คือ การทำให้ทุกคนเชื่อมั่นในดาต้า และใช้เป็น ซึ่งมันต้องมีการให้ความรู้กับผู้ใช้ โดยเขาได้เริ่มด้วยการร่วมพาร์ทเนอร์กับบริษัทใหญ่ๆ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เพื่อสื่อสารให้ความรู้กับตลาด
ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่ ในการสร้าง Mindset ที่เป็นวินวิน กับผู้เช่า หรือผู้ต้องการสถานที่นั้นๆ เพื่อผลในระยะยาว ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
“โอ๊ต” บอกว่า การทำงานของ SpaceCloud ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องทำต่อ และต้องขยายพื้นที่ แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า งานสายสตาร์ทอัพ เป็นสายที่ “โตเร็ว ความเสี่ยงสูง” เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะเข้าสู่เส้นทางนี้ ต้องศึกษาให้ดีว่า Pain Point ที่ตัวเองค้นพบ เป็นเรื่องที่คนสนใจและมีกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่มีไอเดียแล้วนั่งคิดค้นเทคโนโลยีออกมา แต่ไม่มีคนใช้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเลือกหาโซลูชั่นที่ดี และเหมาะสมที่สุดในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองและเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,872 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2566