บิ๊ก ‘ไรมอน แลนด์’ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ปั้นดีเอ็นเอใหม่ ลดต้นทุน-เสริมรายได้

21 พ.ค. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 15:26 น.

นับจากมกราคม 2564 ที่บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ได้ผู้บริหารหนุ่มหล่อ “กรณ์ ณรงค์เดช” มานั่งทำหน้าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท

เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากวิสัยทัศน์ของแม่ทัพนิวเจน ที่ลุกขึ้นปรับภาพลักษณ์ธุรกิจทันที จากภาพของแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับลักซ์ชัวรี่ที่มีอายุ ลดระดับมาสู่แบรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่ทันสมัย เคลื่อนไหวเร็ว

 

“กรณ์” ประกาศรีแบรนด์ตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่ม Young Gen ที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยกลยุทธ์ Branded Residences จนสามารถพลิกฟื้นรายได้จากขาดทุน 5 ไตรมาส สู่กำไรสุทธิ 138 ล้านบาท สวนกระแสโควิด-19 

บิ๊ก ‘ไรมอน แลนด์’ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ปั้นดีเอ็นเอใหม่ ลดต้นทุน-เสริมรายได้

ประสบการณ์จากธุรกิจในครอบครัว ที่ทำทั้งธุรกิจโรงเรียนดนตรี และอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แบรนด์ เคพีเอ็น ทำให้ “กรณ์” มีความพร้อมค่อนข้างมาก สำหรับการเข้ามาพลิกฟื้นไรมอน แลนด์ ให้กลับมาเป็นเจ้าตลาดอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ลักชัวรี่อีกครั้ง โดยสิ่งที่หนุ่มนักบริหารคนนี้มองเห็นก็คือ การปิดช่องโหว่ของรายจ่าย และสร้างเสริมรายได้ให้มีความมั่นคง 
     บิ๊ก ‘ไรมอน แลนด์’ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ปั้นดีเอ็นเอใหม่ ลดต้นทุน-เสริมรายได้

เขาชูกลยุทธ์ 3 เรื่องหลัก ด้วยการสร้างดีเอ็นเอใหม่ Branded Residences ซึ่งถือเป็นนิวอีร่าของธุรกิจอสังหาลักซ์ชัวรี่ ที่มีโอกาสการเติบโตสูง เพราะโครงการในแบบ Branded Residences คือ โครงการ พัฒนาอสังหาริมทรัพย ร่วมกับแบรนด์ระดับโลก เป็นการนำเชนโรงแรมที่ได้รับความเชื่อถือและมีศักยภาพเข้ามาสวม ยกระดับความเป็นอยู่ของลูกบ้านให้มีความพรีเมี่ยมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ให้กับผู้ซื้อ และตลาดนี้ เป็นตลาดที่กำลังเติบโตสูง โดยปี 2564 เติบโตมากถึง 230% จาก 133 แบรนด์ทั่วโลก ในขณะที่ไทย ถือเป็นทำเลที่มีโครงการ Branded Residences มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

สำหรับไรมอน แลนด์ โครงการแรกที่เป็น Branded Residences คือ Rosewood Residences Kamala ภูเก็ต ที่ร่วมกับ Rosewood เชนโรงแรมดังระดับโลก โครงการนี้มีวิลล่า 14 หลัง ราคาต่อหลังจะเริ่มที่หลักหลายร้อยล้านบาท จนไปถึงหลังใหญ่สุดราคาเฉียดพันล้าน เปิดตัวภายในต้นไตรมาส 3 ปีนี้
    

“ทำไมไดเร็คชั่นของเราจึงมุ่งเน้นที่ลักชัวรี่ ตอนนี้ตลาดอสังหาโอเว่อร์ซัพพลายจริง แต่ตลาดลักชัวรี่ไม่ มัน under supply ห้องขนาดใหญ่ยังมีความต้องการ โควิด ทำให้คนอยู่บ้าน คนให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่มากขึ้น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นักลงทุนยุคใหม่ ปรับพอร์ตไปที่อสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพราะมันยั่งยืน ส่งต่อได้ เพิ่มมูลค่าได้ คนมีตังค์อยากซื้ออสังหาไปเรื่อยๆ เราจึงเข้ามาเสริมตลาดนี้” 
     บิ๊ก ‘ไรมอน แลนด์’ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ปั้นดีเอ็นเอใหม่ ลดต้นทุน-เสริมรายได้

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ การ Joint Venture ร่วมกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดดอกเบี้ย ขณะรอเวลาในการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ “กรณ์” ยังตัดปัญหารายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เข้ามาแบบฟันหรอ ด้วยการขยายสู่ตลาดบ้านและวิลล่า ที่ใช้ระยะการก่อสร้างน้อยกว่าคอนโดมิเนี่ยม พร้อมมีการจัดพอร์ตวางแผนระยะยาว 5-10 ปี เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ที่ต่อเนื่อง
    

การสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับไรมอน แลนด์ “กรณ์” ยังมองไปถึงนิวบิซิเนส ที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกด้านเทคโนโลยี ด้วยการลงทุนทำ Data Center โดยร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา บริษัท Nautilus Data Technologies ซึ่งเป็นผู้นำ Green Data Center ที่ใช้น้ำในการ cool down คอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถประหยัดพื้นที่ ประหยัดต้นทุนประมาณ 20% น้ำที่ปล่อยออกมาก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ได้ทั้งธุรกิจใหม่ที่มีความเสถียรในการทำรายได้แล้ว ยังได้เป็นอีกขาหนึ่งของการลงทุนด้านความยั่งยืน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG ซึ่ง “กรณ์” บอกว่า นี่คือ อีกหนึ่งแนวทางธุรกิจที่ไรมอนแลนด์ ต้องเดินหน้าต่อ
   บิ๊ก ‘ไรมอน แลนด์’ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ปั้นดีเอ็นเอใหม่ ลดต้นทุน-เสริมรายได้

“กรณ์” มองรอบด้านไปถึงการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเขาวางเป้าว่าจะต้องทำให้ได้ภายใน 3-5 ปี นับจากนี้ โดยปัจจุบัน สัดส่วนลูกค้าต่างชาติของไรมอน แลนด์ มีมากถึง 49% โดยกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ และน่าจับตามากๆ คือ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมีความสนใจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย 
     

นอกจาก 3 กลยุทธ์หลัก ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับไรมอน แลนด์แล้ว “กรณ์” บอกว่า อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำตอนนี้คือ การสร้างแบรนด์ “ไรมอน แลนด์” ให้เป็นที่จดจำ เพราะที่ผ่านมา คนจะจำได้แต่ชื่อโครงการ แต่ไม่รู้จักไรมอน แลนด์ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเดินหน้าเต็มที่ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ไรมอน แลนด์ในอนาคต 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,784 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565