ยูนิโคล่ ชูธงกลยุทธ์ความยั่งยืน พลิกฟื้นธุรกิจและรายได้

05 พ.ค. 2565 | 20:25 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 15:33 น.
902

ขณะที่โควิด-19 เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยูนิโคล่ แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นดังจากญี่ปุ่น ได้ส่งผู้นำคนใหม่ “โยชิทาเกะ วาคากุวะ” เข้ามานั่งประจำการในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด แบบเงียบๆ

ด้วยพันธกิจในการนำองค์กรให้ก้าวผ่านวิกฤติพร้อมทั้งนำพาองค์กรให้เติบโตภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน

 

“โยชิทาเกะ” ยอมรับว่า วิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างหนัก การทำหน้าที่บริหารธุรกิจในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตได้อย่างเดิม ในขณะที่สถานการณ์โดยรวมของไทย เริ่มค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว แต่ในฐานะของผู้นำจะชะล่าใจไม่ได้ เพราะความผันผวน หรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น จะต้องบริหารงานอย่างระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลรอบด้าน ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง 


จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุถึงผลการดำเนินงานของยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2562 ยูนิโคล่มีรายได้รวม 12,237 ล้านบาท กำไร 2,424 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 10,606 ล้านบาท กำไร 2,007 ล้านบาท และปี 2564 รายได้รวม 8,409 ล้านบาท กำไร 1,132 ล้านบาท

ยูนิโคล่ ชูธงกลยุทธ์ความยั่งยืน พลิกฟื้นธุรกิจและรายได้
ยูนิโคล่มีเป้าหมายการพัฒนาองค์กรด้านความยั่งยืน และดำเนินการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าว ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ยูนิโคล่ยังสามารถทำรายได้และกำไรต่อเนื่อง แม้รายได้จะลดลงบ้างจากสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญ หรือคีย์ซัคเซส ที่ซีอีโอ ยูนิโคล่ สามารถผลักดันธุรกิจให้มีความก้าวหน้า คือ การเข้าใจลูกค้าให้มากที่สุด และมีการสื่อสารถึงลูกค้า พร้อมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือพาร์ทเนอร์ เพื่อการนำเสนอบริการที่ดีให้กับลูกค้า

“บริษัทของเรายังค่อนข้างใหม่ เราเกิดมาได้ 10 ปี ...เรื่องสำคัญจริงๆ คือ เราต้องตั้งเป้าไว้ให้สูง เพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ผ่านการพัฒนาตลอดเวลา โดยเราต้องทำความเข้าใจ และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน สมาชิก เพื่อการเดินหน้าไปสู่จุดหมายด้วยกัน” 


ขณะเดียวกัน จากการที่ได้เผชิญกับโควิด -19 ทำให้ได้เรียนรู้ว่า คนทั่วโลกเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น ไม่มีใครสามารถอยู่โดยลำพังได้... “เรามีปรัชญา เปลี่ยนภาพลักษณ์ เปลี่ยนโลก เราเชื่อว่าการส่งมอบเสื้อผ้าที่ดี จะสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้นได้


จากเป้าหมายของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูนิโคล่ ตั้งเป้าในปี 2030 ในการพยายามสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยความคิดริเริ่ม 2 ด้าน คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า และการดูแลตั้งแต่ซัพพลายเชน ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ยูนิโคล่ได้พัฒนาเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดการใช้น้ำในการผลิต ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยเป้าของการสร้างให้ยูนิโคล่เป็นเบอร์ 1 ด้านความยั่งยืนในไทย

ยูนิโคล่ ชูธงกลยุทธ์ความยั่งยืน พลิกฟื้นธุรกิจและรายได้
ประเทศไทย ถือเป็นตลาดสำคัญของยูนิโคล่ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น การขยายธุรกิจและการลงทุนในไทยยังมีอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยเฉพาะการสร้างสาขาที่เป็นสแตนอโลน หรือ โรด์ไซด์ ที่จะทำให้ยูนิโคล่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย 


ซีอีโอ ยูนิโคล่ ประเทศไทย บอกว่า ช่วงที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับโควิด-19 ทำให้ได้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้โมบายมากขึ้น ซึ่งยูนิโคล่ก็ต้องปรับตัวเอง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเหล่านั้น การบริหารงานในโลกยุคใหม่ ที่ต้องทำทั้งการพลิกฟื้นรายได้ การทำตลาด การใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับแกนธุรกิจด้านความยั่งยืน ทุกอย่างต้องบาลานซ์กันให้ดี 


“ความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหลักอีกตัวหนึ่ง  ที่เข้ามาเสริมการทำธุรกิจ เรายังคงต้องเน้นสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพ เราเชื่อในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืน 
ที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ และทำให้ลูกค้าเข้าใจได้มากขึ้น ซึ่งยูนิโคล่จะพยายามเพิ่มเอสเคยูเสื้อผ้ารีไซเคิลให้มากขึ้นเรื่อยๆ”


ผู้บริหารยูนิโคล่ ทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจของยูนิโคล่ ไม่ได้ดูตัวเลขเป็นสำคัญ แต่ดูความต้องการลูกค้าเป็นหลัก ยูนิโคล่จะตั้งสาขาอยู่ที่ใด จะผลิตสินค้ารูปแบบไหนออกมา นั่นคือ ความต้องการของลูกค้า 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565