ส่องกลยุทธ์  สร้างอิมแพ็คยานยนต์พลังงานสะอาด  ‘ETRAN’ สตาร์ทอัพยั่งยืน

13 พ.ค. 2565 | 19:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 15:27 น.

“ทุกวันนี้ เงินย้ายไปอยู่ในองค์กรทำ ESG มากขึ้น เพราะพวกเขามองว่า ต้องการให้เงินทุนไปอยู่ในบริษัทที่ช่วยให้โลกดีขึ้นได้”  นี่คือข้อคิด ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) “สรณัญช์ ชูฉัตร” ตระหนักดี

และได้นำเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล มาเป็นแนวทางการทำธุรกิจ จากปณิธานเริ่มต้น ในการเป็น The Cleanest Mobility Company เป็น SOLUTION PROVIDER และเป็นองค์กรที่จะเดินหน้าสู่ Net Zero ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทาย แต่ด้วยความเป็นองค์กรใหม่ ก่อตั้งมาได้ 6-7 ปี ทำให้สามารถตั้งเป้าหมายได้ตั้งแต่เริ่มต้น 


“คุณเอิร์น-สรณัญช์” พบว่า อุตสาหกรรมไม่ว่ายานยนต์หรือพลังงานเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอุตสาหกรรมที่สกปรกมากๆ ขณะเดียวกัน พลังงาน ก็เป็นอะไรที่ปรับเปลี่ยนสู่ Net Zero ได้ง่ายที่สุด และมีการพัฒนาสูงสุด ซึ่งขณะนี้ มีปัญหาเรื่อง Climate Change มาเป็นตัวเร่ง ที่ทำให้พลังงานและยานยนต์ ต้องสัมพันธ์กัน เราก็เลยอยากเป็นการขนส่ง การเคลื่อนที่ต่างๆ ที่สะอาดที่สุด ETRAN เลยรวม สองอุตสาหกรรมมาไว้ด้วยกัน

“เรานำพลาสติกแบบใหม่ที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ (Natural fibers) มาสร้างรถที่ดูดีมีดีไซน์ รักษ์โลกด้วยการทำให้ขยะพลาสติกลดลง จากการแปรรูปมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเราให้มากขึ้น เราเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างอิมแพ็คเรื่องความยั่งยืน และเรื่องคาร์บอน”
  ส่องกลยุทธ์  สร้างอิมแพ็คยานยนต์พลังงานสะอาด  ‘ETRAN’ สตาร์ทอัพยั่งยืน

การเป็นผู้ประกอบการสำหรับ ETRAN คือความสามารถในการขับเคลื่อนโลก โดยไม่ได้คิดกำไรขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจ สิ่งที่คิดและตั้งเป้าตั้งแต่เริ่มๆ คือ เรื่อง ESG ซึ่งขณะนี้ ETRAN ได้อิมพลีเม้นท์ ESG ไปแล้วค่อนข้างมาก 

แนวทางดำเนินธุรกิจของ ETRAN คือ การร่วมลงทุนพัฒนาซัพพลายเชนกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ เปลี่ยนซัพพลายเชนให้เป็น Green Chain ไม่ใช่แค่ส่งของตรงเวลา แต่ถ้าคุณไม่คลีน ไม่ใช้พลังงานสะอาด 80% ETRAN ก็ไม่เอา 


ซีอีโอหนุ่มคนนี้มองว่า การทำธุรกิจให้ยั่งยืน เป็นหน้าที่ของซัพพลายเชนด้วยที่ต้องทำ เพราะการทำร่วมกันหลายๆ คน จะทำให้เกิดพลัง ทำเองอาจจะถูกกว่า แต่มันไม่ใช่คำตอบของวันนี้ 
  ส่องกลยุทธ์  สร้างอิมแพ็คยานยนต์พลังงานสะอาด  ‘ETRAN’ สตาร์ทอัพยั่งยืน

ตอนนี้ ETRAN ลอนซ์ Mission 3 E คือ Electrify การนำพลังงานสะอาด กลับมาสร้างพลังงานให้ประเทศ การจุดประกาย แล้วกลับมา Empower คนมีประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยสิ่งแวดล้อม (Environment) ก็ต้องดีขึ้นด้วยโปรดักต์ที่องค์กรสร้างขึ้น ด้วยการทำ 5 เรื่อง สำหรับแผนที่จะเดินไปสู่ Net Zero คือ 
 

  1. ต้องเข้าใจเรื่องหลังบ้าน Behind the scene ต้องดูซัพพลาย ดีมานท์ต่างๆ เพราะไม่มีใครบอกว่า ตัวเองกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่  
  2. Setting the scene ต้องตั้งเป้าหมาย ภาพที่จะเห็นภายใน 5-10 ปีคืออะไร ต้องใช้กระบวนการคิดแบบไหน ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) มองอนาคตว่ามันสามารถจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ต้องแชร์ความรู้ เพราะความรู้ไม่ควรเป็นความลับ ทุกคนควรเข้าถึงได้ และเข้ามาใช้
  3. ต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์ Co-Creation
  4. ต้องวิวัฒนาการร่วมกัน (Co-Evolution Developmemt) ซึ่งจะทำให้ไปได้เร็วกว่า และสุดท้ายคือ Way Forward การก้าวไปสู่อนาคตด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดคือ Consumer Business Policy ของ ETRAN 

อีกสิ่งสำคัญ การจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ซีอีโอ ทุกคนต้องเข้าใจ ต้อง Aware, Align และ Action ถ้ามีแผน แต่ผู้บริหารไม่เข้าใจ ก็ทำอะไรไม่ได้ ผู้บริหารต้องลงมือทำ และทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระบวนการต้องทำจากในองค์กร ต้อง Alignment ไม่งั้นมันไม่มี Action 


“เราทบทวนเรื่องความรับผิดชอบสังคม เราไม่ทำเป็น Year Plan เรามองทุกวัน องค์กรเราสามารถรับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน เราต้องทำทุกๆ จุด ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้ออ้าง อะไรที่ต้องใช้เวลา ต้องรีบหาพาร์ทเนอร์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ต้องเข้าไปร่วมพัฒนากับเขา”
 

“สรณัญช์” มีเป้าหมายธุรกิจในปีหน้า ที่จะต้องพัฒนารถยานยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อ ออกสู่ตลาด 10,000 คัน ซึ่งถือเป็น 25% มาร์เก็ตแชร์ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อในประเทศไทย รวมทั้งต้องลดคาร์บอนให้ได้ 2 หมื่นตัน โดยดำเนินการตามกระบวนการที่เขาได้วางไว้ และนี่คือ เส้นทางการเดินไปสู่ Net Zero ของ ETRAN 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565