อภิธา วัลลภศิริ พัฒนานวัตกรรมและสร้างโซลูชันการเรียน

16 ม.ค. 2559 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 11:18 น.
1.1 k

การใช้ความรู้ที่มีมาต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตัวเองและสังคม นั่นคือสิ่งที่น่านำมาเป็นแบบอย่าง คนหนุ่มวัย 30 กว่าๆ "โทนี่ - อภิธา วัลลภศิริ" ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและกิจกรรม Enconcept E-Academy

หน้าที่ตามตำแหน่งของเขาก็คือ ผู้รับผิดชอบด้านสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร...แต่อีกหน้าที่หนึ่ง คือผู้พัฒนาหลักสูตร และเทคโนโลยีด้านการสอนหลักสูตร TOEFL IBT ของ Enconcept


จากความรู้ความสามารถที่จบมาทางด้านการวิเคราะห์ ออกแบบ และการจัดการระบบสารสนเทศ จาก London School of Economics and Political Science ซึ่งเน้นหนักวิชาเกี่ยวเนื่องด้วยการจัดการสารสนเทศ การพัฒนาระบบ การออกแบบระบบ และคอนเซ็ปต์ของระบบ ระบบสารสนเทศระหว่างองค์กร ผนวกเข้ากับประสบการณ์ทำงานด้านการตลาด ในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด ประเทศไทย จำกัด และการเรียนรู้เพิ่มพูนอยู่เรื่อยๆ ทำให้เขามองและวิเคราะห์ตลาด และพัฒนาหลักสูตรผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างน่าสนใจ

"อภิธา" เล่าว่า เขาเริ่มต้นเข้ามาร่วมงานกับ Enconcept E-Academy เพราะรู้จักและเป็นเพื่อนกับเจ้าของสถาบันบัน คือ คุณครูพี่แนน เขามีโอกาสได้เข้ามาช่วยดูแลเครือข่ายแบคโบน (Blackbone Network) เพราะเขาเปิดบริษัทซอฟต์แวร์ของตัวเอง ชื่อ Xeersoft อยู่แล้ว หลังจากดูแล Back end แล้ว ก็ได้เข้ามาดูแลในส่วนของ Front ends หรือส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้ เริ่มวางระบบอี-เลิร์นนิ่ง เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ที่เพิ่มห้องเรียนมากขึ้น เพิ่มสาขามากขึ้น เริ่มตั้งแต่การถ่ายทอดการสอนจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง จนมาถึงการอัดคลิปวิดีโอส่งไปตามสาขาต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเป็นผู้เริ่มต้นสร้างระบบ S.E.L.F.หรือการเรียนด้วยตัวเอง



ความคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมารองรับการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่การทำให้วิธีการเรียนการสอนง่ายขึ้นเร็วขึ้นเท่านั้น แต่มันคือ "นวัตกรรมการศึกษา" ที่ผนวกความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ของผู้พัฒนาระบบเข้าไปด้วย



S.E.L.F. คือ S : Student ผู้เรียนคือนักเรียน E : Extensive ระบบการเรียนเรามองว่าเป็น Extensive ไม่ใช่ Intensive คือกวดวิชา แต่เราไม่ใช่แค่เรียนกวดวิชา Extensive คือน้องๆ ต้องเรียนตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ตอนมาเรียนที่นี่เราต้องการทิ้งเมล็ดพันธุ์ที่ว่า พอพ้นมือเราไปแล้ว น้องๆ สามารถไปเรียนเองต่อได้ L : Learning คือการเรียน ซึ่งเด็กๆ ต้องเรียนอยู่แล้ว และ F : Fitness คือ กรอบความคิด ที่ผู้เรียนจะต้องมีความตั้งใจมาเรียน มาเรียนเพราะอยากทำให้เรามีปัญญาเยอะขึ้น อยากให้สมองเราดีขึ้น

เมื่อถามว่า ระบบอี-เลิร์นนิ่ง กับการเรียนกับครูสดๆ ในห้อง ให้ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันหรือไม่ "อภิธา" ตอบว่า สิ่งที่เราแก้ให้นักเรียน คือการเข้าถึงบทเรียน คนที่ไกลจากครูผู้สอน ไกลจากกรุงเทพฯ ก็ได้รับอะไรที่เท่าเทียมกัน แต่สุดท้ายมันคือเจตจำนงของเด็ก ขึ้นอยู่กับจริตของผู้เรียน ถ้าเรียนในห้องเดียวกัน เด็กเรียนเก่งกับเรียนอ่อน ครูผู้สอนจะดูแลหรือให้เวลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เด็กเรียนเก่งเบื่อ แต่ถ้าเป็นระบบอี-เลิร์นนิ่ง เด็กที่ไม่เก่งสามารถย้อนกลับมาทบทวนหรือทำความเข้าใจอีกครั้งกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ ซึ่งระบบที่ Enconcept E-Academy นำมาใช้ ผ่านการวิเคราะห์และวิจัย และนำระบบที่ประสบความสำเร็จมาตัดแต่งพันธุกรรมให้เหมาะสมกับเด็กไทยแล้ว



"อภิธา" บอกว่า การทำงานตอนนี้ คือการนำสิ่งที่แต่ละผู้บริหารและแต่ละองค์กรมีอยู่มาพัฒนาร่วมกัน โดยสร้างเป็นเครือ Learn Balance มี Enconcept เป็นตัวชูโรง และมีบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ Xeersoft และเมื่อปี 2013 ได้ขยายมาเป็น XChange English ที่ซัพพอร์ตภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่ หรือคนทำงาน

"แต่ละบริษัทที่อยู่ในเครือ มี Core Competency ของตัวเอง เขามีความสามารถของตัวเอง และคัดเลือกคนที่เป็นพันธุ์ของตัวเองเข้ามา แล้วก็ปั้นเขาขึ้นมาให้เป็นคนเก่ง เมื่อทั้ง 3 ส่วนมาผูกเข้าด้วยกัน ด้วยแนวคิดที่เหมือนกัน คือการปลดปล่อยศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในไทย และถ้าเราทำในไทยเสร็จค่อยขยายไปตลาดเมืองนอก"



ผู้บริหารหนุ่มคนนี้มองว่า "นวัตกรรมการศึกษา" ที่เขาและทีมคิดขึ้นมา คือโซลูชันที่ดี ที่สามารถแก้โจทย์สำหรับคนที่มีปัญหาด้านภาษาได้ ซึ่งเมื่อทำที่เมืองไทยสำเร็จ ก็สามารถนำโซลูชันนี้ไปหาพันธมิตรมาร่วมขยายได้ต่อ โดยไม่จำกัดแค่ว่า ไทย เรียนอังกฤษ หรือ อังกฤษเรียนภาษาไทย เพราะโซลูชันที่เขาพัฒนาขึ้นมา ทั้งโปรแกรมการเรียน และการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชัน เป็นการแก้ปัญหาที่ผู้เรียนภาษาแต่ละชนชาติ ที่คนชาติหนึ่ง หรือภาษาหนึ่ง จะมีวิธีการขยับโพรงปากเพื่อเปล่งเสียงต่างกัน หากจะพูดให้ได้ดี ก็ต้องมาฝึกหรือพัฒนาตรงนั้น รวมไปถึงแก้ทัศนคติส่วนตัว เกี่ยวกับการเรียนการพูด เรียนภาษาอังกฤษ คือการเรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อพัฒนา ต้องตัดความรู้สึกที่ว่าฉันเก่ง ฉันอาย ออก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง



ในมุมของนักบริหาร ที่ออกมาเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง จนได้มาผนึกกับเพื่อน ขยายเป็นเครือ Learn Balance "อภิธา" บอกว่า โจทย์มันต่างกัน แม้จะมีทักษะความรู้หลายอย่างที่ใช้กันได้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจน คือความเป็นมืออาชีพ คือ การสร้างศักยภาพให้เข้ากันได้กับงานที่ได้รับมอบหมาย แต่คนที่เป็นผู้ประกอบการ ต้องสามารถเห็นรูปแบบที่ยังไม่เกิดได้ด้วย เห็นปัญหาก่อนคนอื่น และต้องสามารถเข้าไปกำหนดได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาคืออะไรหรือถ้าอันนี้เป็นปัญหา แล้วกลายเป็นโอกาสได้ คุณก็ต้องเห็นก่อนคนอื่น



และนั่นคือสิ่งที่ "อภิธา" นำมาใช้ เขาบอกว่าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่า คนคนนั้นจะวางกรอบตัวเองไว้แค่ไหน มีความอยากรู้อยากเห็นแค่ไหน เห็นเร็ว ทำเร็วแค่ไหน...การเป็นมืออาชีพหรือมือปืนรับจ้าง จะติดอยู่กับคำว่า Perfectionist ตรงนั้นคือแรงถ่วง เพราะผู้ประกอบการบางครั้งต้องกล้าเสี่ยง การรอให้ทุกอย่าง Perfect อาจจะทำอะไรไม่ได้มาก
 

ผู้บริหารคนนี้มองว่า "วิธีที่จะเปลี่ยนโลก มันทำได้หลายวิธี" อยู่ที่กรอบความคิดว่าจะเอาอะไรขึ้นมาเป็นตัวตั้งโจทย์ อย่าง Enconcept E-Academy ถ้าคิดว่ามันคือโรงเรียนกวดวิชา ทำเพื่อการพาณิชย์ เป็นธุรกิจ ถ้าคิดได้แค่นั้นก็จะทำอะไรไม่ได้มาก... แต่เมื่อคิดว่า Enconcept E-Academy ต้องการทิ้งเมล็ดพันธุ์ที่จะทำให้คุณอยากเรียนตลอดชีวิต ทำให้คนรักการเรียน ให้เขารู้ประโยชน์ของการเรียน แล้วเราไปสร้างโซลูชัน หรือแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้จริง มันจะเกิดความน่าจะเป็นได้หลายอย่างให้สังคม...แค่เราวางกรอบ (Frame) ตัวเองให้ถูกและทำให้สุด มันจะสร้างให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น



การสร้างทีมของ XChange คือการสร้างความท้าทาย...ผมบอกทีมเลยว่า ทีมของ XChange คือการตอบปัญหาของสังคม ปีที่ผ่านมา Enconcept เพิ่งครบรอบ 20 ปี เราผลิตนักเรียนเป็นล้านคน เมื่อเราไปเจอผู้บริหาร หรือคนในกระทรวง เขาจะพูดว่า จะทำอย่างไรให้ Enconcept แก้ไขปัญหาสังคมได้ ทำอย่างไรให้เด็กที่เรียนไปแล้ว สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้จริง ตรงนั้นจึงทำให้เกิด ทั้งๆ ที่จริงๆ ระบบการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยของเรา ก็ติดอันดับเข้มข้น เหมือนกับระบบจอหงวนของจีนเลยทีเดียว แต่คณะเก่งๆ ส่งคนไป ทำไมวิศวะไทย แพทย์ไทยคนต่างชาติมองว่าไม่เก่ง XChange ขึ้นมา... มันเป็นพันธกิจของคนที่อยู่ในทีมด้วย ต้อง Dare to Change กล้าที่จะเปลี่ยน ไม่ท้อแท้ กล้า ไม่ติดอัตตาของตัวเอง



"ชีวิต คือการหาคำตอบ เราเจอแล้ว เราก็จะไม่ฟิตอยู่กับมัน เราต้องหาอะไรใหม่ๆ มาให้คนเรียนเรื่อยๆ สิ่งที่เราคิดมันไม่ได้ดีเสมอ เราต้องทำรีเสิร์ช เราต้องอ่าน เราต้องต่อยอดความรู้เสมอๆ มันมีทีมอื่นเขาทำได้ดีกว่าเราไหม ถ้ามี เราก็ต้องเปิดใจที่จะพัฒนา มันมีสูตรใหม่ไปเรื่อยๆ"



Kind to exchange จึงเป็นสิ่งที่ "อภิธา" ใช้ทั้งกับตัวเอง ทีมงาน และผู้เรียนที่ต้องการสร้างเสริมปัญญาความรู้ของตัวเอง
 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559