ดีเดย์ 1 ม.ค. 68 ไทยเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ 15%

01 ม.ค. 2568 | 06:30 น.

ดีเดย์ วันที่ 1 มกราคม 2568 ไทยประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมการลงทุนบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง เล็งตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ

วันที่ 1 มกราคม 2568 ประเทศไทยจะเริ่มต้นการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% สำหรับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร ราว 2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นไปตามข้อตกลงขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax ในอัตรา 15% จากธุรกิจข้ามชาติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ประกาศออกมาแล้ว นั่นคือ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีส่วนเพิ่มจากภาษีที่ได้เสียไปแล้วให้ไม่น้อยกว่าเกณฑ์เสียภาษีขั้นต่ำ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้การจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% ดังนั้นเมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-Up Tax) เพื่อให้ถึงเกณฑ์การเสียภาษีขั้นต่ำที่ 15%

ขณะที่ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มบังคับใช้เฉพาะกลุ่มกิจการข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า Multinational Enterprises : MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม

อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะเป็นประโยชน์แก่การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง

หลังจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรอง กำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD กำหนด สำหรับวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี, การชำระภาษี, การยื่น GloBE Information Return และการแจ้งข้อมูลนั้น กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม กรมสรรพากรจะจัดสัมมนาและจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาภาษีและผู้สอบบัญชี

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกําหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 โดยมีใจความสำคัญว่า กฎหมายว่าด้วยภาษีส่วนเพิ่ม พระราชกําหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกําหนดนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย และสนับสนุนมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ที่นานาประเทศได้กําหนดร่วมกัน ให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีจากการประกอบกิจการในแต่ละประเทศไม่น้อยกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งการตราพระราชกําหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
 
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Rules) เป็นแนวทางสากลที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างภาคีสมาชิกของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกําไร (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองว่าอัตราภาษีที่แท้จริงของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่จากการประกอบกิจการในแต่ละประเทศนั้นต้องไม่น้อยกว่า 15%
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นการรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยจากภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเริ่มคํานวณภาษีส่วนเพิ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้
 
ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติ บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่ากำลังจะถูกบังคับให้เสียภาษี โดยหากบริษัทข้ามชาตินั้น ๆ ไม่เสียภาษีนิติบุคคล 15% ที่ประเทศไทย ก็ต้องกลับไปเสียภาษีในประเทศบ้านเกิดตัวเอง และบางส่วนก็อยากมาเสียภาษีที่ประเทศไทย
 
อย่างไรก็ตาม อยากให้ประเทศไทยมีมาตรการดูแล สนับสนุนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งกลไกนี้จะช่วยให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็นนับหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอีก
 
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงจะมีการออกกฎหมายสนับสนุน กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งกองทุนนี้จะมีประโยชน์ คือ จะมีการนำเงินบางส่วนจากเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้เข้าไปใส่ไว้ และนำเงินมาสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การลดฝุ่น PM 2.5 ให้กับบริษัทข้ามชาติที่เลือกมาเสียภาษีนิติบุคคลในไทย 15%
โดยรัฐบาลกำลังเร่งจัดทำข้อตัวบทกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาการดำเนินการปีภาษีที่จะเริ่มช่วงเดือนม.ค.-ธ.ค. 2568 เพราะหากทำไม่ทันปลายปีนี้ก็จะไม่ได้เก็บ ต้องเสียเวลาเริ่มไปอีกปี ซึ่งเป็นเรื่องของใครเก็บก่อนได้เปรียบ ไทยจึงจะเป็น 1 ใน 20 กว่าประเทศทั่วโลกที่จะเริ่มใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างจริงจังเป็นที่แรก โดยเริ่มกฎหมายตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 และจะให้มีผลยื่นภาษีได้ในปี 2569
 
ปัจจุบัน ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ, เกาหลีใต้, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมัน, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และเวียดนาม
 
นอกจากนี้ ประเทศที่คาดว่าจะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฮ่องกง