สธ. คุมเข้มตรวจสุขภาพต่างด้าว หลังพบใบรับรองแพทย์ปลอมระบาด

04 ม.ค. 2568 | 08:00 น.

สาธารณสุข ย้ำสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งคุมเข้มมาตรฐานการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว ด่านแรกในการคุ้มครองความมั่นคงด้านสุขภาพไทย ป้องกันการแพร่ระบาดโรคอันตรายจากต่างแดน หลังพบใบรับรองแพทย์ปลอมระบาด ชี้ฝ่าฝืนมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศทำให้เกิดการติดต่อค้าขายเดินทางไปมาหาสู่กันมาอย่างยาวนาน ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรในประเทศเพื่อนบ้านตัดสินใจเดินทางเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เดือนพฤศจิกายน 2567 แสดงให้เห็นว่าทั่วประเทศมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน 3,350,969 คน

ทั้งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งการหลั่งไหลขอเข้ามาของแรงงานต่างด้าวนั้น ถือว่า มีทั้งผลดีในเรื่องของตลาดแรงงานและผลกระทบที่สำคัญอย่างปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโรคต่าง ๆ ที่เคยหายไปจากเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน ที่เริ่มกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง 

การตรวจคัดกรองสุขภาพแรงงานต่างด้าว จึงถือเป็นกำแพงด่านแรกในการคุ้มครองความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน แต่ ณ ปัจจุบัน กรม สบส.ยังคงได้รับข้อร้องเรียนในการออกเอกสารใบรับรองแพทย์ปลอมให้แรงงานต่างด้าว โดยไม่มีการตรวจสุขภาพจริง

จึงขอเน้นย้ำกับสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้คุมเข้มมาตรฐานการให้บริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าวให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดและก่อนเปิดให้บริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าวจะต้องยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติมบริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว (แบบ ส.พ. 16) กับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อพิจารณาอนุญาต

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส.

หากเป็นการออกตรวจสุขภาพคนต่างด้าวนอกสถานที่ตั้งจะต้องแจ้งรายละเอียดต่อผู้อนุญาตก่อนวันออกให้บริการไม่น้อยกว่าสิบวัน ตามแบบ สพ.ต.1 เพื่อให้การตรวจสุขภาพเป็นไปตามาตรฐาน คุมเข้มการออกใบรับรองแพทย์ปลอม เป็นการหยุดยั้งมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายจากต่างประเทศ 

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรฐานการให้บริการ ตรวจสุขภาพคนต่างด้าวที่สถานพยาบาลต้องจัดให้มีตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ประกอบด้วย

1. มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

2. มีห้องเอกซเรย์และเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ที่ผ่านมาตรฐานและแจ้งการครอบครองกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

3.มีแพทย์ผู้รับผิดชอบในการให้บริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว อีกทั้ง ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะอื่นเป็นผู้ร่วมให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพนั้น ๆ 

4. มีเวชระเบียนและการรายงานผลการตรวจสุขภาพ โดยต้องจัดให้มีรายชื่อคนต่างด้าวที่มาตรวจสุขภาพ ผลการตรวจสุขภาพจำแนกตามโรคต้องห้าม

5. มีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์เพื่อยืนยันตัวตนคนต่างด้าวที่เข้ามารับบริการตรวจสุขภาพของสภากาชาดไทย หรือระบบยืนยันตัวตนอื่นที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด

ในกรณีที่พบว่า โรงพยาบาลไม่มีมาตรฐานการให้บริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว หรือกรณีที่ผลการตรวจสุขภาพคนต่างด้าว ปรากฏเป็นโรคต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ สถานพยาบาลต้องรายงานผลการตรวจไปยังหน่วยงานของรัฐตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ด้วย

หากฝ่าฝืนจะถือว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 35 (4) ประกอบ มาตรา 65 และอาจมีมาตรการทางปกครองสั่งปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราวอีกด้วย