ในช่วงเทศกาลปีใหม่คนไทยส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองกับครอบครัวพบปะญาติพี่น้องร่วมวงรับประทานอาหารด้วยกัน พูดคุยสังสรรค์ เป็นเทศกาลแห่งความสุข แต่ทราบกันหรือไม่ว่าคุณหรือคนใกล้ชิดอาจกำลังตกอยู่สถานการณ์ นิวเยียร์บลูส์" (New Year Blues) หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังเทศกาลปีใหม่ ได้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต พบว่า คนไทยส่วนใหญ่หลังจากเดินทางกลับบ้านไปเฉลิมฉลองปีใหม่เมื่อเดินทางกลับมาทำงาน ใช้ชีวิตลำพังจะประสบกับภาวะ "นิวเยียร์บลูส์" (New Year Blues) หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังเทศกาลปีใหม่
นิวเยียร์บลูส์ เป็นอาการที่หลายคนมักเผชิญในช่วงหลังปีใหม่ อาจจะเป็นเพราะการได้อยู่ท่ามกลางความอบอุ่นของญาติพี่น้อง แต่เมื่อต้องกลับมาทำงานสู้ชีวิตในเมืองหลวงโดยลำพังอีกครั้ง หรือการกลับเข้าสู่โหมดการทำงานแบบเต็มรูปแบบ อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก
อาการมักคงอยู่ 2-3 วัน ในบางรายอาจยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
แนวทางการดูแลตนเอง 4 ข้อ
1. เปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิด
2. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลุ่ม
3. กำหนดเป้าหมายชีวิตที่เป็นรูปธรรมและท้าทายอย่างเหมาะสม
4. ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบว่าอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
สามารถประเมินสภาวะทางจิตใจเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.วัดใจ.com ที่ให้บริการประเมินครอบคลุมทั้งด้านภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟในการทำงานจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาต่อไปด้วย หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศร่วมกันในสถานที่ทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากหลังหยุดยาวแล้วกลับมาจะมีงานจำนวนมากรออยู่ ทำให้มีความกดดัน
มีความคาดหวังสูงในการสะสางงานให้เรียบร้อยจึงอาจจะทำให้เกิดภาวะเครียดต้องมีการปรับตัวซึ่งเพื่อนร่วมงานอาจจะสนับสนุนกัน ปรับบรรยากาศให้มีความสุข หรือร่วมกันออกกำลังให้สดชื่นก่อนการเริ่มงานก็จะช่วยพยุงให้ผ่านช่วง New Year Blues ไปด้วยกัน