ภารกิจการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยของกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ ที่สำคัญยิ่ง ในปี 2567 ภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลายโครงการถูกขับเคลื่อนต่ออย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" มาสู่นโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่" ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษและใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นี้ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดซึ่งช่วยทุ่นแรง ทุ่นเวลา ทุ่นค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้จริง จากต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายค่ารักษา ค่าผ่าตัด
นโยบายนี้ได้ช่วยประชาชนให้ไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องขายที่ ถึงวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มากรัฐบาลได้เล็งเห็นต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนต่อไปได้
ล่าสุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศความพร้อมในการให้บริการ "30 บาทรักษาทุกที่" ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด 100 % กับ Health ID ของประชาชนจะทำให้ได้รับบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น จากนี้สามารถที่จะจองคิวล่วงหน้าก่อนโดยไม่ต้องเสียเวลาไปรอคิว นัดเวลาที่สะดวกสามารถพบแพทย์ได้เลย
นอกจากนี้พัฒนาไปถึงการพบหมอออนไลน์ การรับยาทางไปรษณีย์ มีไรเดอร์ส่งยาให้ถึงบ้านซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงมีบริการเจาะเลือดถึงบ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียง และมีเครื่องล้างไตอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้สามารถล้างไตที่บ้านได้
ในปี 2568 รัฐบาลมีแนวทางในการพัฒนาระบบสาธารณสุขโดยในส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มในเรื่องของผู้ป่วยติดเตียง และจัดตั้งสถานชีวภิบาล ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สร้าง Care giver จำนวน 15,000 ตำแหน่งทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาจบใหม่และกลุ่มผู้เกษียณอายุ
นอกจากนี้ได้มีการเพิ่มการตรวจคัดกรองด้วยตนเองรูปแบบใหม่ รู้ผลเร็ว รักษาง่าย เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวขอรับชุดตรวจได้ฟรีที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมเน้นย้ำในเรื่องของการดูแลอย่างครบวงจรต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ จากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางคนต้องใช้การปรับตัวอย่างมากเพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดังนั้น ในปี 2568 จะขยายให้มีผู้บำบัด มีนักจิตแพทย์ให้มากขึ้นด้วย ในส่วนของ กทม. ได้ขับเคลื่อน 50 โรงพยาบาล 50 เขตเพื่อรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนทุกคนทุกจังหวัดในประเทศไทยให้มีสุขภาพที่แข็งแรง รวดเร็ว สะดวกสบาย ตั้งแต่วันนี้ที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นเพื่อดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว ใกล้บ้าน นำมาสู่นโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่" ซึ่งที่ผ่านมา 30 บาทรักษาทุกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประชาชนมีความพึงพอใจอย่างยิ่งเนื่องจากทำให้มีทางเลือกในการรับบริการสุขภาพมากขึ้น
นอกจากรับบริการจากหน่วยบริการเดิมที่อยู่ในระบบแล้ว สปสช.ได้ร่วมกับ 7 สภาวิชาชีพทางการแพทย์ เพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมอีก 7 ประเภทโดยขึ้นทะเบียนในระบบแล้วประมาณ 13,000 แห่ง มีประชาชนรับบริการแล้วกว่า 6 ล้าน 5 แสนคน หรือ ประมาณ 15 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ยังมี 14 บริการนวัตกรรมทางเลือกใหม่ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล, หาหมอผ่านแอปพลิเคชัน, รถทันตกรรมเคลื่อนที่, คลินิกเวชกรรมเชิงรุก, ตู้ห่วงใยหรือหมอตู้, เจาะเลือดที่บ้าน และรถรับส่งผู้ป่วย เป็นต้น
นายสัมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยของกระทรวงสาธารณสุขว่า ในปี 2568 จะเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องของ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs : non-communicable diseases) ซึ่งเกิดจากการกินไม่ถูกสัดส่วนของความจำเป็นของร่างกายซึ่งวันนี้คนไทยป่วยเพราะโรคกินไม่เป็นใช้เงินเพื่อการรักษาจากการเก็บสถิติของกระทรวงสาธารณสุขมากถึง 52% ของการรักษาทั้งหมดที่ใช้เงินอยู่
ที่ผ่านมาได้ให้ความรู้กับคนไทยเรื่องของ คาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นที่มาของการชวนคนไทย "นับคาร์บ" เนื่องจากปัญหาเรื่องของการกินคาร์โบไฮเดรตนั้นเป็นต้นตอของปัญหาประมาณ 50% ผ่านทาง อสม. ซึ่งมีทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 1,090,000 คน
ปัจจุบัน อสม.ได้รู้เรื่องนี้แล้วประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่ภาคประชาชนได้รับรู้เรื่องนี้อีกจำนวน 9 ล้านคน หนึ่งเดือนเศษคนไทยคำนวณเรื่อง สัดส่วนของอาหาร คือ คาร์โบไฮเดรต เข้าใจแล้วเกือบ 2 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขวางเป้าหมายว่า ภายใน 2 ปีคนไทย 50 ล้านคนจะเข้าใจในเรื่องของการบริโภคอาหารมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่จะทำถัดไป คือ เรื่องของ เกลือ ซึ่งจากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทย พ.ศ. 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันถึง 2 เท่า ขณะที่คนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ขณะที่จากรายงานความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 และผลักดันประเด็นขับเคลื่อนเชิงนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs
โดยกระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ ในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในอาหาร ตั้งเป้ากระตุ้นให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลง 30% พร้อมสนับสนุนให้ อสม.มี Salt Meter เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือนที่รับผิดชอบ รวมถึงการกำหนดเพดานปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลักดันมาตรการทางการเงิน เช่น ภาษีโซเดียม เป็นต้น
พร้อมกันนี้มีรายงานว่า กรมควบคุมโรคซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ พ.ศ. 2559-2568 ได้รายงานแผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย(SALTS) ปีงบประมาณ 2560-2567 ประกอบด้วย
1. การสร้าง พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือ (S: Stakeholder network)
2. การเพิ่มความรู้ ความตระหนักและเสริมทักษะประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและผู้กำหนดนโยบาย (A: Awareness)
3. การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องว่างทางการเข้าถึงอาหารปริมาณโซเดียมต่ำ (L: Legislation and environmental reform)
4. การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้และการนำไปสู่การปฏิบัติ (T: Technology and Innovation) โดยวิจัยปรับสูตรอาหาร
5. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามและประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ (S: Surveillance, monitoring and evaluation) โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน ThAI Salt Survey และสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) ทุกจังหวัด รวมถึง กทม.ด้วย