ศรชล. ลุยหนักปราบ“บุหรี่เถื่อน” ทางทะเล ชี้ฟอกขาวสำแดงเท็จ ย้อนขายในประเทศ

20 ธ.ค. 2567 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 18:20 น.

ศรชล. ภาค 2 ลุยปราบปรามบุหรี่เถื่อนทางทะเลต่อเนื่อง ชี้เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ผ่านเทคนิคสำแดงเท็จเป็นสินค้าที่กำลังส่งไปประเทศที่ 3 แต่ขนย้ายใส่เรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล ลักลอบกลับมาขายในไทย ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล จี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่ ตั้งเป้าปี 68 ลุยเข้มข้น

รายงานข่าวจากผู้ปฏิบัติงานในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศรชล.ภาค 2 ซึ่งดูแลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง เผยถึง สถานการณ์การลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนทางทะเลว่า “บุหรี่เถื่อน” เป็นสินค้าผิดกฎหมายซึ่งถือเป็นภัยคุกคามประเภททหนึ่งตามกรอบภัยคุกคามทางทะเล 9 ด้าน ของ ศรชล. ซึ่งได้มีการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มข้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในเวลานี้ขบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ จากอดีตเป็นการลำเลียงในลักษณะกองทัพมด ใช้เส้นทางธรรมชาติตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันได้ลุกลามมาตามแนวทะเลภาคใต้และขนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขนถ่ายทางทะเลแบบล็อตใหญ่ ผ่านเทคนิคการสำแดงว่าเป็นสินค้าที่กำลังส่งไปยังประเทศที่ 3 แต่กลับมีการขนย้ายใส่เรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล เพื่อลักลอบนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทย

ส่งผลให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ขยายเป็นวงกว้างขึ้น โดยจากสถิติการจับกุมเรือเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ศรชล. ภาค 2 ได้ตรวจพบบุหรี่ผิดกฎหมายล็อตใหญ่ จำนวน 1,000 ลัง รวม 10 ล้านมวน และเมื่อเดือนตุลาคม 2567 มีการจับกุมได้อีกจำนวน 528 ลัง หรือกว่า 5,280,000 มวน (ในใบสำแดง 1,050 ลัง หายไปจากใบสำแดง 522 ลัง)

ศรชล. ลุยหนักปราบ“บุหรี่เถื่อน” ทางทะเล ชี้ฟอกขาวสำแดงเท็จ ย้อนขายในประเทศ

ทั้งนี้ยอมรับว่าจากรูปแบบการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การติดตามจับกุมทำได้ยากกว่าอดีต โดยทำในลักษณะสินค้าผ่านแดนจากประเทศต้นทางมาทางบก ก่อนขนลงเรือโดยผ่าน 2 ท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือสุราษฎร์ธานี และท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งในระหว่างที่ขนส่งบนบกจะมีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หลังจากที่นำลงเรือและเรือแล่นออกไปแล้ว สินค้าจะไปถึงปลายทางหรือไม่ ไม่มีหน่วยงานใดจะตรวจสอบได้

ดังนั้นการจับกุมจึงยากขึ้น เพราะพื้นที่การตรวจสอบไม่ใช่เพียงแค่บริเวณท่าเรือ แต่เรือที่บรรทุกสินค้าออกไป สามารถขนสินค้าได้ตลอดชายฝั่ง ส่วนการจับบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่เมื่อปี 2566 ของศรชล. ภาค 2 นั้น เป็นเพราะเรือได้แล่นเข้าสู่ท่าเรือ จึงควบคุมเรือได้ทั้งลำ

ศรชล. ลุยหนักปราบ“บุหรี่เถื่อน” ทางทะเล ชี้ฟอกขาวสำแดงเท็จ ย้อนขายในประเทศ

อย่างไรก็ตามการจับกุมทางทะเลถือว่ายากกว่าทางบกค่อนข้างมาก เพราะการที่เรือแล่นอยู่ในทะเล หากผู้กระทำความผิดทราบเบาะแสว่า มีเรือของทหารเรือแล่นออกมาก็สามารถหลบหลีกได้ เนื่องจากเรือแล่นในทะเลเป็นไดนามิก เลยทำให้การขนถ่ายทำได้ง่าย และสามารถขนได้คราวละมาก ๆ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของบุหรี่เถื่อนมีมากขึ้น แม้ว่าทางทหารเรือจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้จับกุม หรือใช้เครื่องมือที่มีในการตรวจจับ แต่อีกฝ่ายก็มีวิธีการที่จะหลบหลีกอยู่เสมอ ทั้งโดยการใช้เครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ ยังมีอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ โดยกฎหมายบางฉบับยังมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ เช่น กรณีที่จับกุมบุหรี่เถื่อน 1,000 ลัง พร้อมรถที่กำลังจะขนย้ายบุหรี่ 8 คัน โดยมีการขนบุหรี่ขึ้นรถคันแรกแล้ว 30 ลัง ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่ได้ขนขึ้นรถ ปรากฎว่าบุหรี่ที่อยู่ในเรือทั้งหมดไม่สามารถเอาผิดได้ ทั้งที่ศาลจังหวัดนาทวี สงขลา ให้ดำเนินคดีกับบุหรี่ทั้ง 1,000 ลัง แต่อัยการจังหวัดสงขลาตีความว่า บุหรี่ที่อยู่ในรถเท่านั้นที่มีความผิด ส่วนบุหรี่อีก 970 ลังที่อยู่ในเรือถือว่าความผิดยังไม่ครบองค์ประกอบ โดยไม่ได้ดูเจตนาที่มีการนำรถมาขนถึง 8 คัน

ศรชล. ลุยหนักปราบ“บุหรี่เถื่อน” ทางทะเล ชี้ฟอกขาวสำแดงเท็จ ย้อนขายในประเทศ

เช่นเดียวกับกรณีการจับกุมบุหรี่เถื่อน 1,050 ลัง แต่ได้ของกลางมาเพียง 528 ลัง ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารที่สำแดง จึงมีส่วนที่หายไป 522 ลัง ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบเช่นกันว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อีกหรือไม่อีกทั้งยังสามารถประกันเรือของกลางออกไปได้ด้วย ทำให้ผู้กระทำผิดอาจสามารถเอาเรือออกไปกระทำความผิดต่อได้ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย

“ในอนาคตจึงอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือเจตนาของผู้กระทำความผิด เพราะผู้กระทำความผิดทำทุกทาง เพื่ออาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งศรชล. ภาค 2 เป็นหน่วยงานใหม่ การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรายใหญ่ต้องทำเอง แต่ยอมรับว่าความชำนาญในการดำเนินการบนชั้นศาลยังไม่มีความชำนาญเท่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง”