นายเขศักดิ์ สุดสวาท ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคอีสานตอนล่าง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (6 ธ.ค. 2567) ทางเครือข่ายฯ ได้มายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยมีนางสาวอรุณศรี วิชชาวุธ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้แทน DSI รับหนังสือ สืบเนื่องจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางการยางแห่งประเทศไทย (คยท) ได้ติดตามการทำงานของคณะปราบปรามยางเถื่อน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งขึ้น
พร้อมกับมีข่าวการจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจับกุมนั้น บางครั้งก็ได้จำนวนปริมาณครั้งละมากมาย คราวละ 7 คัน รถพ่วง เป็นอย่างน้อย สอบถามจากเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศแล้ว ทราบว่ามีการจับกุมตามแนวตะเข็บชายแดนได้จำนวนมากและจับกุมจากผู้รับซื้อยางเถื่อน ที่เปิดร้านรับซื้อตามแนวชายแดนได้อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญมีการจับกุมจากโรงงานแปรรูปยางบริษัทฯ สหกรณ์ฯต่าง ๆ ได้อีกจำนวนมาก พร้อมกับรับทราบว่า มีทหารได้จับกุมระหว่างข้ามแดนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งระยะทางตลอดแนวชายแดน 2,000 กว่ากิโลเมตร รวมแล้วมีการจับกุมได้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และในอดีตที่ผ่านมา ก็คงมีมูลค่ามากกว่านี้ เรื่องดังกล่าวคือสาเหตุที่ทำให้ราคายางตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน
นายเขศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี สุดท้ายเกษตรกรชาวสวนยางก็เกิดความวิตกกังวล เมื่อเกิดมีข่าวลือหนาหูว่าผู้มีอิทธิพลพยายามระงับการสืบสวนคดีนี้ไว้ โดยการเตะถ่วงยื้อเวลาและยังไม่ให้รับเป็นคดีพิเศษ จึงมาให้กำลังใจ DSI ในการปราบปรามยางเถื่อนและให้รับเป็นคดีพิเศษ เพื่อจะได้เร่งรัดในการดำเนินคดีกับผู้ทำผิดกฎหมายให้ถึงที่สุดโดยเร็ว
"เชื่อว่าหากปราบปรามยางเถื่อนให้เป็นรูปธรรมได้จริง จะเป็นประโยชน์ที่ดีให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติและประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนทั้งประเทศ พวกเราชาวสวนยาง จึงขอฝากความหวังไว้ที่ DSI ผู้มีอำนาจรัฐมาช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของคนทำอาชีพยางพาราและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติด้วย"
ราคายางพารา ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2567