ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป เปิดเผยบทความวิชาการ SMEs กับการทำแผนยุทธศาสตร์ประจำปี เพื่อเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจภายใต้ความไม่แน่นอน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ว่า อยากให้ภาคธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME พิจารณาการทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน และช่วยวางแผนความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้เห็นว่า ผู้บริหารธุรกิจขนาดกลางและรายใหญ่ส่วนมากคงรู้จักการทำแผนธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์ที่มีความคล้ายกันแต่ก็มีความแตกต่าง กล่าวคือแผนธุรกิจจะเป็นลักษณะแผนแม่บท (Master Plan) ครอบคุลมทุกมิติของธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะมีกรอบระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีหรือมากกว่า
นอกจากใช้เป็นแผนหลักบางครั้งสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนหรือขยายธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด (Feasibility Analytics) รวมถึงระยะเวลาในการคุ้มทุน (ROI) การทำแผนธุรกิจหากใช้ในระดับปฏิบัติการประจำปีเรียกว่า “Annual Operation Planning”
สำหรับแผนยุทธศาสตร์หรือ “Strategics Planning” บางครั้งเรียกว่าแผนกลยุทธ์ซึ่งองค์กรจัดทำเพื่อตอบสนองแผนธุรกิจ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย-พันธกิจและแนวทางบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นทิศทางในการดำเนินงานของธุรกิจ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ยุทธศาสตร์ประจำปี เพื่อให้ผู้บริหารและทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องในองค์กรรับรู้ว่าธุรกิจกำลังจะทำอะไรจะไปในทิศทางไหน ทั้ง นวัตกรรม-เทคโนโลยี การขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
โดยการทำแผนยุทธศาสตร์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับองค์กรโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนหรือยอดขายหดตัวรวมถึงกำไรน้อยหรือขาดทุน
ทั้งนี้มองว่า กุญแจแห่งความสำเร็จจำเป็นที่ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์เห็นโอกาสและภัยคุกคามที่จะมีผลต่อองค์กรด้วยการประยุกต์ใช้แผนธุรกิจรวมทั้งแผนยุทธศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการ มีการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะรุกหรือจะตั้งรับ
ต้องมีการวิเคราะห์โดยใช้หลักการของ “SWOT Analytics” คือจุดแข็ง-จุดอ่อนของธุรกิจ มีเป้าหมาย-ทีมงานและดัชนีชี้วัด ประโยชน์ของการมีแผนธุรกิจจะทำให้องค์กรมีการขับเคลื่อนเข้าถึงโอกาสหรือแก้วิกฤตเป็นโอกาสและ/หรือเผชิญกับภัยคุกคามโดยมีแผนและวิธีการในการรับมือที่ชัดเจน
ดร.ธนิต ระบุว่า ธุรกิจ SMEs รวมถึงธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น (Business Startup) ส่วนใหญ่ไม่โตแข่งขันไม่ได้หรือไปไม่รอดไปจนถึงเลิกกิจการ เหตุผลเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารแต่ละวันสาระวนกับงานประจำที่เรียกว่า “Routine Work” วัน ๆ ก้มหน้าอยู่กับงานประจำ หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เคยมองไปข้างหน้าว่าสภาวะแวดล้อมของธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร กำลังมีภัยคุกคามอะไรรออยู่ เงยหน้าอีกครั้งโอกาสก็ผ่านไปหรือสายเกินไปที่จะแก้ปัญหาทำให้รับมือไม่ทัน
ดังนั้นการยอมเสียเวลา 2 - 3 วัน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนปีด้วยการชวนทีมบริหารหรือลูกน้องหันหน้าระดมความคิดว่าปีใหม่ เช่น ธุรกิจจะต้องเผชิญกับอะไร พฤติกรรมของลูกค้ายังซื้อสินค้า/บริการเหมือนเดิมหรือไม่ ด้านการแข่งขันหรือฉากทัศน์ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรในการรับมือ การวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง-โอกาสและภัยคุกคามหรือที่เรียกว่า “SWOT Analytics”
ทั้งนี้อาจทำง่าย ๆ เพียงแค่ไปคุยกับลูกค้าหรือซับพลายเออร์ว่าธุรกิจของเขาเหล่านั้นในปีที่ผ่านมาหรือปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรยอดขายลดลงหรือเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวล้วนมีผลต่อผลประกอบการและสภาพคล่องของธุรกิจ
นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เขาจะเอามาใช้ว่าของเรารับมือไหวหรือไม่ บางครั้งแอบถามว่าคู่แข่งมีกลยุทธ์อะไรวิธีการสอบถามให้ลูกค้าหรือซับพลายเออร์วิจารณ์องค์กรของเราแบบตรงไปตรงมาไม่ต้องไปแก้ตัว ผลที่ได้ต้องนำมาวิเคราะห์จุดแข็งต้องรักษาไว้ด้านจุดอ่อนมีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะที่เป็นวิกฤตต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ตัวอย่างธุรกิจ “V-SERVE GROUP” มีการนำแผนธุรกิจมาใช้กว่า 35 ปี เริ่มจากทำแบบง่ายๆ ดังที่กล่าวข้างต้น พอมีสตางค์ก็เชิญอาจารย์หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมาร่วมกันวิเคราะห์ การจัดทำแผนธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์ของ “วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป” ทำกันทุกปีจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรครอบคลุมทุกมิติ เช่น ด้านการตลาดและการแข่งขัน นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี สภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ การบริหารความเสี่ยง-ความต่อเนื่องและยั่งยืนของธุรกิจ ประการสำคัญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจ
ดังนั้นจึงฝากข้อคิดนี้ไปยังเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหาร SMEs โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อยต้องมีวิสัยทัศน์ การทำธุรกิจในยุคสมัยนี้เป็นความท้าทายไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะโจทย์ไม่เหมือนเดิมต่างไปจากอดีต ขณะที่ผู้ที่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจใหม่
รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ที่จบจากสถาบันการศึกษาไม่มีประสบการณ์มุ่งสานฝันว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จเป็น “เสี่ย” ได้ง่ายๆ อาจเห็นต้นแบบ “Business Startup” ที่ประสบความสำเร็จแต่จะมีเพียงกี่รายที่ก้าวผ่านขึ้นมาได้ที่เหลือทำธุรกิจแบบหลักลอยขายสินค้าออนไลน์เล็กๆ น้อยๆ หรือทำงานตามร้านกาแฟดังๆ ตามยุคสมัยผ่านไป 2 – 3 ปี กลายเป็นคนตกงานแฝง
ฉากทัศน์ธุรกิจในยุคที่โอกาสและภัยคุกคามมีเส้นแบ่งเพียงบาง ๆ ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจอย่าเห็นการทำแผนธุรกิจหรือแผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องเพ้อเจ้อหรือไร้สาระ-เสียเวลาและเสียเงินเปล่า ๆ หากยังต้องการให้ธุรกิจที่ทำอยู่มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยให้ยอดขายและกำไรยังขยายตัวได้ดีไม่แท้งหรือเจ้งไปเสียก่อน การทำแผนยุทธศาสตร์หรือ “Strategics Planning” เป็นคำตอบและตอบโจทย์การทำธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี