จับตาตอกเข็มไฮสปีด เม.ย.68 ดันไทย-ต่างชาติ ปักหมุดลงทุนบูมเศรษฐกิจอีอีซี

11 ม.ค. 2568 | 17:06 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2568 | 17:54 น.

จับตา ตอกเข็มไฮสปีด เมษา68 ดันเอกชนไทย-ต่างชาติ เดินหน้าบูมเศรษฐกิจอีอีซี ปักหมุดลงทุน หลัง กพอ. ลุยแก้ไขสัญญา  

 

โครงการก่อสร้างรถไฟความเรเวสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ) หรือไฮสปีดเทรน มูลค่า 2.24แสนล้านบาท ระยะทาง 220กิโลเมตร  โครงการในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ที่มีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี เป็นคู่สัญญาสัมปทาน หลังใช้เวลาดำเนินการ6ปีใน4รัฐบาลนับตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ

  

ตอกเสาเข็มไฮสปีด เมษายน68

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ครั้งที่ 1/2568  ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน (8 มกราคม 2568) รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญา ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ดังกล่าว

 

ประเมินว่า จะผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสามารถตอกเสาเข็มได้ภายในเดือนเมษายน2568 นี้ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่งผลดีต่อ พื้นที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีและเศรษฐกิจประเทศโดยรวม  ให้ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าสร้างความมั่นใจ ให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าพื้นที่

 รวมถึงจะช่วยให้โครงการขนาดใหญ่อื่นๆที่อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมต่อการเดินทางการค้าอย่างไรรอยต่อ ที่สำคัญคือภาคแรงงาน ที่จะหลั่งไหลเข้าพื้นที่สร้างงานสร้างอาชีพ ให้เกิดความแข็งแกร่งขยายจีดีพีประเทศให้เติบโต

 

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน ครั้งนี้ ระหว่างรฟท.และเอกชน ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)

 ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track)

โดยเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา 

จากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข  โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ภายในเดือนเมษายน 2568 

ขณะความหวังของการลงทุนและการพัฒนาโครงการในอีอีซีของภาคอุตสหากรรมและอสังหาริมทรัพย์มองว่าจะขยายตัวขึ้น จากความต้องการจากกรณีที่มีนักลงทุนเข้าพื้นที่สะท้อนได้จาก ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่หลายแห่งมีนักลงทุนต่างชาติจับจองโดยเฉพาะทุนจีน รวมถึง นักลงทุนชาวจีนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินพัฒนาโรงงาน  ส่งผลให้ ราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซีขยับสูง ขณะภาคอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางจำนวนไม่น้อยตบเท้าซื้อที่ดินพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับ

สะท้อนจาก รายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)  กรณีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา โครงการในทำเลอีอีซีช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่ดินของทำเลอีอีซีในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นมา 8.3% มาอยู่ที่ 281.5 จุด ซึ่งยังคงเป็นการเติบโตของราคาแบบชะลอตัว หากเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ราว 14% เนื่องจากผู้ประกอบการฯมีความต้องการนำที่ดินมาพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง  อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทางการเกษตรยังไม่เหมาะกับการนำมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย ในขณะที่พื้นที่อีกส่วนเป็นพื้นที่ที่นำไปพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ที่น่าสนใจ  เมื่อ พบว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าในพื้นที่จังหวัดระยอง มีค่าดัชนีเท่ากับ 230.8 จุด ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 22.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี2566 และเพิ่มขึ้น 31.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปี2567

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  วิเคราะห์ ว่า อาจเนื่องมาจาก การที่ทุนใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาซื้อที่ดินสร้างโรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ที่ชาร์จ ในทำเลนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นจำนวนมาก 

อีกทั้ง มีกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่จากประเทศจีน เช่น แบรนด์บีวายดี (BYD) ฉางอาน (Changan) เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง โดยเฉพาะทำเลนิคมพัฒนาปลวกแดง ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับขึ้นประมาณ 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่เป็นปีฐาน (100.0 จุด) และนักลงทุนนิยมลงทุนในจังหวัดระยอง มากกว่าจังหวัดชลบุรี เนื่องจากราคาที่ดินในจังหวัดระยองยังมีราคาต่ำกว่าจังหวัดชลบุรีประมาณ 30 – 40% 

ขณะเดียวกัน ยังเห็นทิศทางการขยับของ ที่ประชุมกพอ. เห็นชอบให้ขยายเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบินและเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน

รวมถึงขยายพื้นที่ ตั้งเขตส่งเสริมใหม่ รับลงทุน 1.56 แสนล้าน จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา สร้างโอกาสการจ้างงานกว่า2หมื่นคน และการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว

สะท้อนได้ว่าในอนาคตจะมีการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม ร้านอาหารฯลฯรองรับกำลังซื้อของกลุ่มดังกล่าว สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง!!!