หอการค้าเชียงใหม่ ชงครม.สัญจร ฟื้นฟูน้ำท่วม-ดันเมกะโปรเจกต์ภาคเหนือ

28 พ.ย. 2567 | 06:40 น.

ประธานหอการค้าเชียงใหม่ “จุลนิตย์ วังวิวัฒน์” เตรียมทำข้อเสนอเอกชนในพื้นที่ เสนอรัฐบาล ช่วงเดินทางมาประชุม “ครม.สัญจร” 29 พ.ย.นี้ ดันแผนเร่งด่วนฟื้นฟู เยียวยาน้ำท่วม พร้อมเร่งดันเมกะโปรเจกต์ภาคเหนือ

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเสนอให้รับรัฐบาลพิจารณาในช่วงที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นี้ 

สำหรับข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่เตรียมเสนอต่อรัฐบาลครั้งนี้ จะแยกเป็น 2 ส่วนหลัก นั่นคือ มาตรการเร่งด่วน ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมามีแนวทางการช่วยเหลือผ่านการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปแล้ว และภาคเอกชนจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งรัดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ

“ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี ค่อนข้างจะได้รับผลกระทบมากในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เพื่อจะมีเงินไปฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งผู้ประกอบการเองก็ยังไม่อยากผิดนัดชำระหนี้กับธนาคาร จึงอยากให้มีมาตรการทางการเงินมาช่วยเหลือเป็นระยะสั้น เช่น พักชำระหนี้เงินต้น หรือลดดอกเบี้ย 6 เดือนถึง 1 ปี จึงเป็นมาตรการที่จะช่วยได้” นายจุลนิตย์ กล่าว

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการระยะสั้นที่ภาคเอกชนในพื้นที่ต้องการเสนอให้กับรัฐบาลพิจารณาในช่วงที่เดินทางมาประชุมครม.สัญจร นั่นคือ การช่วยเหลือหรือลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา

นายจุลนิตย์ กล่าวว่า นอกจากมาตรการระยะสั้น ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่แล้ว ในมาตรการระยะยาวภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการผลักดันออกมาสำเร็จ ทั้ง โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) การก่อสร้างสนามบินล้านนา ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่สองของเชียงใหม่ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ด้วย

“โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเชียงใหม่ เดิมเคยมีผลการศึกษาของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. มาแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลักดันออกมา จึงเตรียมเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ออกมาให้ได้ เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง รองรับเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่อีกด้วย” นายจุลนิตย์ ระบุ