เปรมชัย-หม่อมอุ๋ย ปะทะดุเดือด! ชิงงาน 7 พันล้าน เหมืองแม่เมาะ

25 พ.ย. 2567 | 06:30 น.

เจาะลึก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน สั่งสอบ "สหกลอิควิปเมนท์" ชนะประมูลงานขุดเหมืองแม่เมาะ วงเงิน 7.2 พันล้าน เบื้องหลังเป็นการต่อสู้ระหว่าง "เปรมชัย กรรณสูต" กับ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" ?

กรณี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าว คือการปะทะกันของสองตัวละครสำคัญในวงการธุรกิจไทย ระหว่าง 'เปรมชัย กรรณสูต' เจ้าพ่อวงการก่อสร้าง เจ้าของอิตาเลียนไทย ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในการรับเหมางานภาครัฐมานับครึ่งศตวรรษ กับ 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' หรือที่รู้จักกันในนาม 'หม่อมอุ๋ย' อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ผันตัวมาจับธุรกิจเหมืองแร่?

จากการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลของฐานเศรษฐกิจพบว่า การประมูลงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 มูลค่า 7,250 ล้านบาท ไม่ใช่เพียงการแข่งขันทางธุรกิจธรรมดา แต่แฝงไว้ด้วยข้อสงสัยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ประเด็นแรกที่น่าสนใจคือ การใช้ "วิธีพิเศษ" ในการประมูล แทนที่จะเป็นการประมูลแบบเปิดทั่วไป ทั้งๆที่มีวงเงินสูงกว่า 7,000 ล้านบาท

จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท พบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ ดังนี้
ฝั่งสหกลอิควิปเมนท์ (SQ): มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลหรือ หม่อมอุ๋ย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 17 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถือหุ้น 6.09% เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 

ขณะที่บริษัท เอสวีพีเค จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 19.91% โดยมีตระกูลศิริสรรพ์เป็นเจ้าของ โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการทำเหมืองแร่ ปัจจุบันดำเนินงานเหมืองแม่เมาะโครงการ 8 อยู่แล้ว

ฝั่งอิตาเลียนไทย (ITD): ยักษ์รับเหมารายใหญ่ของไทย มีนายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่สุด 11.90% ขณะที่ครอบครัวกรรณสูตมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันมากกว่า 20% ซึ่ง ITD มีประสบการณ์งานก่อสร้างขนาดใหญ่มายาวนาน 

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พลโท ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ กฟผ. ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติผลประมูล ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ก่อนที่ ITD จะยื่นอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ

จากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ พบว่ากรณีดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบ ดังนี้ 

  1. ความโปร่งใสของการใช้ "วิธีพิเศษ" ในการประมูล
  2. เหตุผลที่ กฟผ. ไม่เลือกวิธีประมูลแบบเปิด
  3. การกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลที่อาจเอื้อประโยชน์
  4. ความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจกับบริษัทที่เข้าประมูล

ทั้งนี้ ทีมข่าวจะติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และจะนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมในตอนต่อไป