thansettakij
กางแผน"การบินไทย" เทคออฟ ร่วมทุน MRO อู่ตะเภาหมื่นล้าน จัดหาฝูงบิน 150 ลำ

กางแผน"การบินไทย" เทคออฟ ร่วมทุน MRO อู่ตะเภาหมื่นล้าน จัดหาฝูงบิน 150 ลำ

25 ก.พ. 2568 | 20:30 น.
1.7 k

การบินไทยเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูไตรมาส 2 ปี 2568 หลังปรับโครงสร้างทุนสำเร็จ พร้อมผนึกบางกอกแอร์- UTA ร่วมลงทุน MRO ที่อู่ตะเภามูลค่า 10,000 ล้านบาท ขยายฝูงบินรุกธุรกิจใหม่ ดันส่วนทุนเป็นบวก 3-4 หมื่นล้านบาท มั่นใจกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มิถุนายนปีนี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 หลังดำเนินการตามเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งการจ่ายหนี้โดยไม่มีการผิดนัดชำระ การปรับโครงสร้างทุน ทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 3-4 หมื่นล้านบาท การทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

ล่าสุดเหลือเพียงเงื่อนไขสุดท้าย คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งในวันที่ 25 ก.พ.2568 คณะผู้บริหารแผนการบินไทยได้ประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ ก่อนนำเสนอในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้

ทั้งนี้หลังการปรับโครงสร้างทุน ทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนและการออกหุ้นใหม่ มูลค่า 76,000 ล้านบาทเสร็จสิ้นในช่วงที่ผ่าน ไม่เพียงทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวก ยังทำให้ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ นำการบินไทยกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ทิศทางของการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ทิศทางของการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

เปิดแผนธุรกิจการบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบินไทยจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังผู้ถือหุ้นอนุมัติรายชื่อบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ จากนั้นก็คาดว่าศาลฯ จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน

การบินไทยก็น่าจะออกจากแผนฟื้นฟู ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็ขึ้นกับการพิจารณาของศาล หากศาลสั่งให้ออกจากแผน การบินไทยก็จะนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในมิถุนายน 2568 นี้

สำหรับแผนธุรกิจการบินไทยในปีนี้การบินไทยจะมีเครื่องบินรวม 85 ลำ เพิ่มขึ้นจาก 79 ลำในปี 2567 และจะปลดประจำการเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER พร้อมเดินหน้าขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 103 ลำในปี 2569 เพิ่มเป็น 116 ลำในปี 2570 โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่ 150 ลำในปี 2576 ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจัดหาเครื่องบิน ทั้งการเช่าและเช่าซื้อ

“ตามแผนการบินไทยได้จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A321 จำนวน 32 ลำ และโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายมัดจำไปแล้ว และทยอยรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321 เข้ามาในปลายปีนี้เป็นต้นไป ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้างโบอิ้ง 787-9 ล็อตแรกจำนวน 45 ลำ ระยะเวลารับมอบ 9 ปี นับจากปี 2567 โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่กลางปี 2570 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีอยู่ในแผนจัดหาอีกจำนวน 35 ลำ ซึ่งจะพิจารณาจัดหาให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาด”

นายชาย กล่าวว่า การมีเครื่องบินเพิ่มขึ้น จะทำให้การบินไทยสามารถขยายเครือข่ายเส้นทางบินได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่การบินไทยจะให้ความสำคัญในการขายตั๋วแบบเน็ตเวิร์คเพิ่มมากขึ้น จากในอดีตที่จะขายแบบพ้อยท์ทูพ้อยท์หรือจุดต่อจุด และที่สำคัญคือทำให้การบินไทยจะขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯเป็นฮับทางการบินได้ จากการขยายเน็ตเวิร์คเส้นทางบินต่างๆได้เพิ่มขึ้น ขยายส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้การบินไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้การบินไทยเดินหน้าสู่สายการบินชั้นนำระดับโลก

ชาย เอี่ยมศิริ ชาย เอี่ยมศิริ

จับมือบางกอกแอร์เวยส์-UTA ร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา 1 หมื่นล้าน

นอกจากการสร้างรายได้จากธุรกิจการบินแล้ว ในปีนี้การบินไทยจะให้ความสำคัญในการลงทุนและสร้างรายได้จากหน่วยธุรกิจ หรือ บิสิเนส ยูนิต ให้เพิ่มขึ้น ไฮไลท์การลงทุนใหญ่ในปีนี้ คือ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการบินไทย จะลงนาม MOU ร่วมลงทุนกับบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ภายในเดือนนี้ เพื่อเสนอตัวเข้าลงทุนในโครงการนี้

ทั้งยังสอดรับกับความต้องการของอีอีซี ที่ต้องการให้ศูนย์ซ่อมแห่งนี้เป็นการลงทุนของคนไทยเป็นหลัก และมีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ ก็ดำเนินศูนย์ซ่อมอยู่แล้วในปัจจุบัน

หากเปิดศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ก็จะมีลูกค้าทันที เพื่อมารองรับการขยายฝูงบินของการบินไทยและการซ่อมบำรุงเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์ส ทั้งยังสามารถรองรับการซ่อมบำรุงของสายการบินต่างๆได้ โดยไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ

การลงทุน MRO สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 220 ไร่ จะใช้งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 70% คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 เริ่มต้นด้วย 3 โรงซ่อมอากาศยาน 1โรงซ่อม สามารถจอดซ่อมเครื่องบินได้ 3 ลำพร้อมกัน และยังมีโรงซ่อมทำสีเครื่องบินอีก 1โรงซ่อม

ศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะมีศักยภาพในการซ่อมเครื่องบินได้ทุกประเภท ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide Body) และเครื่องบินลำตัวแสบ (Narrow Body) ส่วนเฟส 2 ก็จะสร้างเพิ่มอีก 1 โรงซ่อม ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2571 สร้างรายได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

จ่อยื่นประมูลขยายธุรกิจคลังสินค้า

ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนขยายธุรกิจคลังสินค้า (Cargo) โดยจะร่วมกับพันธมิตรในประเทศยื่นประมูลคลังสินค้าแห่งที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ติดกับคลังสินค้าปัจจุบันของการบินไทย การลงทุนอยู่ในระดับหลักพันล้านบาท

พร้อมจัดตั้งโรงเรียนการบิน ซึ่งจะเป็นการขยายการดำเนินธุรกิจของบริษัท TFT (Thai Flight Training)ที่ปัจจุบันอบรมนักบินและลูกเรือ เพื่อทำเป็นโรงเรียนการบิน ขยายไปผลิตบุคลากรด้านช่างและวิศวกร กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดการบิน โดยใช้งบลงทุนประมาณหลักร้อยล้านบาท

นายชาย กล่าวต่อว่าสำหรับผลประกอบการปี 2567 การบินไทยยังคงมีกำไรจากการดำเนินการที่ดี margin เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ในส่วนของผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทุน จากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งภาคสมัครใจ และบังคับตามคำสั่งศาล ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ราคาหุ้นที่แท้จริง ซึ่งเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด(PP) อยู่ที่ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น จากราคาหุ้นที่ต่างกันใน 2 ราคานี้ ส่วนต่างนี้ต้องลงตามมาตรฐานบัญชี จึงกระทบต่อผลประกอบการของการบินไทยในปี 2567 แต่เป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (ONE TIME) และจะไม่กระทบต่อการออกจากแผนฟื้นฟูของการบินไทย

เนื่องจากการบินไทย มีความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งมีกำไรจากการดำเนินการต่อเนื่องติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว

“ปีที่แล้วการบินไทยเป็นสายการบินที่มีกำไร EBIT MARGIN (กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี) มีการเติบโตสูงที่สุดในโลก ปีนี้ก็คาดว่ายังคงมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่เช่นกัน ซึ่งการบินไทยวันนี้มี EBITDA เติบโตแข็งแกร่ง และส่วนของผู้ถือหุ้นยังเป็นบวก ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ” นายชายกล่าว

การบินไทย การบินไทย

โบรกฯ ห่วงรัฐแทรกแซงซื้อเครื่องบิน 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าการเดินหน้าออกจากแผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในเวลานี้น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่เกินกลางปี 68 โดยการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้มองว่า THAI จะมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับขนาดฝูงบิน ลดเส้นทางการบินที่ไม่สร้างรายได้

รวมถึงการหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจสู่บริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินไทยก็พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถพลิกทำกำไรได้

ทั้งนี้ อาจต้องมีการประเมินรายละเอียดเชิงลึกถึงฐานะทางการเงินของการบินไทย โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราส่วนทางการเงิน และสภาพคล่อง ที่ยังไม่เห็นการเปิดเผยตัวเลขนี้ออกมาว่าที่ผ่านมาหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วอัตราส่วนดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งค่อนข้างมีความสำคัญต่อการคาดการณ์ทิศทางในอนาคตต่อไป

“การกลับมาซื้อขายของหุ้น THAI ในครั้งนี้ เชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นการขาดทุนหนักๆ จากค่าใช้จ่ายที่ผิดปกติในงบนั้นจะเป็นไปได้น้อยแล้ว แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมมองว่ายังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของการแทรกแซงของภาครัฐ ต่อเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่ หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ไม่สร้างรายได้และกำไร”

ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในปี 68 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ตามความต้องการเดินทางที่ขยายตัว เพียงแต่ว่าอัตราการขยายตัวในปีนี้อาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากหมดช่วงเวลาของการท่องเที่ยวในลักษณะล้างแค้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย และการกลับมาเปิดประเทศ

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังดูมีความไม่แน่นอนสูง อัตราการเติบโตอาจไม่ได้ดีตามที่ตลาดคาดหวัง การค้าโลกยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่กระทบด้านภาษีการนำเข้าและส่งออก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและการลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเริ่มระมัดระวังมากขึ้น

“เดิมทีหลังจากเปิดประเทศการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น คนยอมจ่ายค่าตั๋วเดินทางแม้มีราคาที่สูง เพราะเที่ยวบิน-เส้นทางบินมีอย่างจำกัด แรงอัดอั้นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศผลักดัน แม้ในตอนนี้ดีมานด์ท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีอยู่ แต่คนเริ่มประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีการเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วและความคุ้มค่า การขยายฝูงบิน และเส้นทางการบินมีมากขึ้น ทำให้วัฏจักรการแข่งขันราคาตั๋วโดยสารกลับมาอีกครั้งในอีก 1-2 ปีจากนี้”

อย่างไรก็ดี มองว่าปัจจัยเชิงบวกเดียวที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจการบินหลังจากนี้ได้ คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ในปี 68 นี้มีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือลดลงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการขุดเจาะน้ำมัน ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐฯ ลง โอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นนั้นค่อนข้างมีจำกัด