AOT-ททท.เร่งดึงทัวริสต์ รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

07 ก.พ. 2568 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2568 | 14:59 น.

ซีอีโอ ภาครัฐมองเศรษฐกิจไทย ปี 2568 AOT มั่นใจท่องเที่ยวเติบโต เร่งยกเครื่องสนามบินรับดีมานด์เข้าไทย ททท.โฟกัสแผนบริหารความเสี่ยง รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน กสทช.เร่งเปิดประมูลคลื่นความถี่สนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วน MIA แนะไทยใช้จุดแข็งพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ดึงลงทุน

การจัดงาน “Go Thailand 2025: Women Run the World” ภายใต้แนวคิด “พลังหญิงเปลี่ยนโลก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2568 ซึ่งนอกจากจะมีนักธุรกิจให้เกียรติร่วมงาน ก็ยังมีผู้บริหารของภาครัฐเข้าร่วมงาน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สะท้อนมุมมองเศรษฐกิจไทย ปี 2568 จาก CEO ภาครัฐมานำเสนอ

AOT มั่นใจท่องเที่ยวเติบโต เร่งยกเครื่องสนามบินรับดีมานด์เข้าไทย

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เศรษฐกิจไทยในแง่ของการท่องเที่ยว ผมมองว่าเศรษฐกิจของไทยยังไปได้ เราคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2567 ประมาณ 13 % ตัวเลขนี้ส่วนใหญ่จะมาจากการผลักดันของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นที่จับตามองของนักท่องเที่ยว ในการเดินทางและวางแผนการท่องเที่ยว

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์

ในส่วนของ AOT เอง ก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการเตรียมโครงการพื้นฐานต่างๆในการรองรับนักท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจตั้งแต่เดินทางมา ว่า มีจำนวนเที่ยวบินที่มาก จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินมากพอ และตั๋วเครื่องบินราคาไม่แพง และเมื่อแลนด์ดิ้งมาแล้ว การต้อนรับที่ดี แถวคอยไม่ยาว สนามบินไม่แออัด

AOT ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้าน และจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น AOT ต้องรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีการเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ รันเวย์ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรามั่นใจว่าจำนวนเที่ยวบินที่รองรับได้เพิ่มขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้เราเติบโตไปพร้อมกับประเทศในเรื่องการขยายธุรกิจของการท่องเที่ยวได้

ในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผมมองว่าการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประเทศไทย อยู่ภายใต้การแข่งขันในเรื่องของเดสติเนชั่น ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการโหวตระดับประเทศ ที่ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ตลอดเวลา ทุกคนอย่างมาเมืองไทยอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการที่นักท่องเที่ยวอย่างมาเมืองไทย

แผนขยายสนามบินของ AOT

ดังนั้นในแง่ของสนามบิน สายการบิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน รองรับการเดินทางของผู้โดยสารและทำให้ประทับใจ เดินทางมาไทย และ AOT ยังคงเดินหน้าเพิ่มศักยภาพของสนามบินต่างๆของทอท.ในการรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเติบโตของการท่องเที่ยวของไทย

รวมถึงการขับเคลื่อนสนามบินสีเขียว เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเวลานี้เมื่อนักท่องเที่ยวอย่างเดินทางมาเที่ยว เขาไม่ได้เลือกว่าเขาอยากจะมาเที่ยวที่ไหน เขามองเรื่องของอีโค ทัวริสซึม การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศเราเริ่มไปแล้ว ในเรื่องการโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม สนามบินของ AOT ก็เช่นกัน สายการบินจะเลือกบินตรงไหนเพิ่ม เขาก็จะมองสนามบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

AOT ก็มองเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีแผนว่าภายใน 3 ปีจะทดแทนพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในอาคารผู้โดยสารให้เป็นพลังงงานแสงอาทิตย์ ซึ่งตอนนี้เริ่มทำไปแล้ว คือ เราได้ทดแทนไปแล้ว 20% จากทั้งหมดที่มีอยู่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 80 เมกกะวัต ตอนนี้ 20 เมกะวัตต์ ใเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว เรามั่นใจว่าภายในเวลา 3 ปีจะสามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงกลางวัน (เดย์ไทม์) ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์ได้

นอกจากนั้นเราได้มีการประสานงานกับอุตสาหกรรมในเครือธุรกิจการบิน ทั้งที่เป็นรถแท็กซี่ ลีมูซีน รวมถึงผู้ให้บริการภาคพื้นต่างๆให้เปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้จากน้ำมันเป็นไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถบอกกับชาวโลกได้ว่ามาเมืองไทยนอกจากเป็นเดสติเนชั่นในใจของเขาแล้ว ยังส่งเสริมเรื่องอีโคทัวริสซึม และการท่องเที่ยวสีเขียวด้วย

ททท.โฟกัสแผนบริหารความเสี่ยง รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นถ้าเรามองในแง่ของเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลก จะเห็นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวน ส่วนเศรษฐกิจไทยก็ยังดีอยู่ แต่ตอนนี้คงไม่ได้มองแค่การวิเคราะห์สวอต (SWOT) อย่างเดียวแล้ว

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์

ต้องมองในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจจะคิดไม่ถึงว่ามีปัจจัยนี้ แต่กลับกระทบทางตรงหรือทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมได้ เช่น ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เคยได้รับผลกระทบจากโควิด -19 หรือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ หรือปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม

ปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มีผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จึงอยากให้มองว่าทุกโอกาส ทุกจุดแข็ง ทุกจุดอ่อน ทุกความท้าทายขอให้อยู่บนพื้นฐานการจัดการบริหารความเสี่ยง เพราะเราอาจจะมีโอกาสแต่ก็มีความเสี่ยงได้

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังดีอยู่ ซึ่งททท.มีส่วนสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยในเดือนแรกของปีนี้ อย่างในเดือนมกราคม 2568 เรามองเห็นการเติบโตของภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวสูงกว่าปีที่แล้วค่อนข้างดีมาก เกือบจะใกล้เคียงกับปีที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ตอนนี้ผ่านมา 1 เดือนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีมากๆ

ในขณะเดียวกันดีมานต์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกในตลาดใหม่ๆ เป็นพวดวิสิทเตอร์ ก็มีเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวกลุ่มมาซ้ำหรือรีวิสิท ก็มีเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราต้องทำ คือ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น และมีความถี่ของการเดินทางเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย

คำตอบที่น่าจะใช้สำหรับ Soin-Off เศรษฐกิจไทย ก็อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวต่อไป ททท.มีภารกิจต้องผลักดันเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงนโยบายในปีนี้ โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน คนไทยเที่ยวในประเทศมากกว่า 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 3-3.5 ล้านล้านบาท

กสทช.เร่งเปิดประมูลคลื่นความถี่สนับสนุนเศรษฐกิจ

นายไตรรัตน์ วิระยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ และ รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวไปในทิศทางทีดีขึ้น จากการที่ผมดูแลตลาดด้านสื่อสารโทรคมนาคมทั้ง เอไอ และ ดาต้าเซ็นเตอร์ กำลังเติบโตขึ้นในอนาคต สำนักงาน กสทช.เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการ พร้อมช่วยรัฐบาลสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกัน

ไตรรัตน์ วิระยะศิริกุล

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 2/2568 สำนักงาน กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ ได้เผยแพร่ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล แบ่งเป็น ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์,ย่าน1500 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน1800 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์, ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยบอร์ด กสทช.ได้วางไทม์ไลน์เปิดประมูลปลายเดือนเมษายนนี้

MIA แนะไทยใช้จุดแข็งพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ดึงลงทุน  

ดร.ธีรธร ธาราไชย เลขาธิการฯ สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ว่า ช่วงเวลานี้ความคาดหวัง และความมั่นใจต่ำ มาจากปีที่แล้วมีเรื่องความไม่แน่นอน แต่ก็มองว่าปีนี้ความไม่แน่นอนคลี่คลายไปแล้ว ส่วนสิ่งที่หลายคนกังวลคาดว่ามีอยู่ 2-3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จึงมีความกังวลเรื่องเทรดวอร์ แต่เชื่อว่าภายใน Q1 ประเด็นนี้น่าจะหายไป ส่วนไทย คือ เรื่องความเชื่อมั่น และการผลักดันเศรษฐกิจ

ดร.ธีรธร ธาราไชย

ในฐานะเลขาธิการสมาคม MIA พบว่า บจ. มี 2-3 ปัญหา การเติบโตในปีนี้ คือ เรื่องความโปร่งใส และการยกระดับตลาดทุน จึงมีบทบาทสำคัญ ในการยันให้สภาพคล่องอยู่ในตลาด สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตไปข้างหน้า คือ การใช้จุดแข็งของไทย ก็คือความเป็นไทย ซึ่งต้องควรพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ใช้ความเป็นไทยรีเทิร์นให้มีมูลค่า เช่นการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของโลก