“โครงการบ้านเพื่อคนไทย” หนึ่ง ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเองในราคาที่เข้าถึงจับต้องได้ โดยมอบหมายให้เจ้ากระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการเร่งด่วน
ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังประกาศถึงโครงการบ้านเพื่อคนไทยอีกว่าจะนำร่องบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่บางซื่อ กม.11 พื้นที่สถานีธนบุรี พื้นที่เชียงราก และพื้นที่สถานีเชียงใหม่ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ตรวจความพร้อม เวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่เปิดให้ประชาชนแสดงเจตจำนงจองสิทธิ์ในวันที่ 17 มกราคมนี้ ผ่าน 2 ช่องทาง ประกอบด้วย สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และเว็บไซต์ www.บ้านเพื่อคนไทย.th
“ฐานเศรษฐกิจ”ลงพื้นที่สำรวจ ทำเลที่ตั้งโครงการบ้านเพื่อคนไทย บริเวณพื้นที่บางซื่อกม.11 พบว่า ที่ตั้งดังกล่าวอยู่แนวซอยวิภาวดีรังสิต 11 บริเวณหลังสำนักงานใหญ่ ปตท.จำกัด (มหาชน) ยาวไปจนถึงแนวเส้นทาง ซอยวิภาวดีรังสิต 11ติดถนนกำแพงเพชร เชื่อมต่อถนนจตุจักรและสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต รวมถึงแนวเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งประกอบไปด้วย ที่พักบ้านรถไฟ ชุมชนในพื้นที่บางซื่อกม.11 กว่า 1,000 หลังคาเรือน คอนโดมิเนียมของพนักงานรฟท. (แฟลช) รวมกว่า 20 อาคาร จำนวน 4-5 ชั้น โดยภายในแต่ละชั้นมีห้องพักประมาณ 10 ห้อง ตลาดนัดบางซื่อ กม.11 ฯลฯ
ขณะที่ทำเลที่ตั้งของพื้นที่บางซื่อกม.11 ยังคงเป็นที่ดินที่มีศักยภาพ อีกทั้งเป็นทำเลทองที่เหล่าบรรดาเอกชนน้อยใหญ่ต่างจับตาอยากลงทุนไม่น้อย จากการประเมินพบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาทต่อไร่ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ห่างจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2.5 กิโลเมตร (กม.) ห่างจากเซ็นทรัลลาดพร้าว 500 เมตร และห่างจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีพหลโยธิน 500 เมตร
นอกจากนี้ยังพบว่าทำเลดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับประชาชนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์ เนื่องจากในพื้นที่โดยรอบถึงแม้ว่ามีชุมชนหนาแน่น แต่การเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงยากมาก เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) รองรับ รวมทั้งกลุ่มวินจักรยานยนต์ที่ให้บริการในพื้นที่มักจะอยู่ในจุดใกล้ถนนใหญ่มากกว่า ทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก
ล่าสุดนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า บ้านเพื่อคนไทยถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อีกทั้งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนจากเมืองสามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ ซึ่งจะทำให้แนวเขตทางรถไฟอย่างพื้นที่บริเวณบางซื่อกม.11 มีชุมชนใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้รฟท.ได้รับอานิสงส์จากพื้นที่โดยรอบกลายเป็นทำเลที่มีมูลค่าสูงสามารถทำประโยชน์อื่นๆได้ในอนาคต ทั้งนี้จะต้องรอผลการศึกษาจากบริษัทลูกหรือบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ก่อนว่าเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีที่เดินหน้าโครงการบ้านเพื่อคนไทยบริเวณพื้นที่บางซื่อกม.11 จะกระทบต่อคนรถไฟที่มีบ้านพักพนักงานรฟท.หรือไม่นั้น เรื่องนี้เชื่อว่าบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้มีการหารือกับผู้คนในชุมชนและสหภาพการรฟท.แล้ว หากคนของรฟท.ได้รับผลกระทบจะต้องดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งรฟท.จะต้องมาหารือร่วมกับบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) อีกครั้ง
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันพื้นที่บางซื่อกม.11 มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ โดยมีประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นครอบครัวของพนักงานรฟท.ที่อยู่อาศัยบนพื้นที่บางซื่อกม.11 กว่า 2,500 ครอบครัว และมีผู้ที่บุกรุกที่ดินเหลือประมาณ 200-300 ราย จากเดิมที่มีผู้บุกรุกประมาณ 500-600 ราย เนื่องจากมีการย้ายพื้นที่ออกไปบางส่วนแล้วในช่วงที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง หากจะดำเนินการย้ายผุ้บุกรุกต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้เขาด้วย
ทั้งนี้คาดว่าการก่อสร้างคอนโดมิเนียมบนพื้นที่บางซื่อกม.11 ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย คาดว่าจะใช้พื้นที่บริเวณแถวบ้านพักรฟท.ดำเนินการก่อสร้าง อาจจะกระทบต่อคนรฟท.บางส่วน แต่จะดำเนินการให้กระทบน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องหามาตรการเยียวยาหาที่อยู่อาศัยใหม่หรือชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
แหล่งข่าวจากชาวบ้านในชุมชนบางซื่อกม.11 กล่าวว่า เห็นด้วยที่ภาครัฐมีโครงการบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ให้ประชาชนมีสิทธิ์มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ยังมีความกังวลว่าหากมีการก่อสร้างในพื้นที่บ้านพักพนักงานรฟท. ซึ่งเป็นสวัสดิการของพนักงานที่ควรมีสิทธิ์จะได้รับ อาจจะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินในส่วนนี้ ซึ่งรฟท.จะต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับพื้นที่ทั้ง 4 แห่งของรฟท. ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ดังนี้ พื้นที่บางซื่อ กม.11 มีเนื้อที่กว่า 15 ไร่ มูลค่า 300 ล้านบาทต่อไร่ รวมมูลค่าทั้งหมด 4,500 ล้านบาท เป็นอาคารชุด จำนวน 1,232 ยูนิต จำนวน 45 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ราคา 1.76 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร ราคา 2.36 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ใช้สอย 45 ตารางเมตร ราคา 2.65 ล้านบาท และขนาดพื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร ราคา 3 ล้านบาท
ด้านพื้นที่ธนบุรี มีเนื้อที่ 23 ไร่ เป็นอาคารชุด จำนวน 2,100 ห้อง มีที่ตั้ง อยู่ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน ห่างรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีส้ม 800 เมตร ส่วนพื้นที่เชียงราก มีเนื้อที่กว่า 18 ไร่ เป็นอาคารชุด จำนวน 1,795 ห้อง ราคา 1.34 ล้านบาทมีที่ตั้ง ห่างจากสถานีรถไฟเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ,โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร และห่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระยะทาง 9 กิโลเมตร
ปิดท้ายพื้นที่เชียงใหม่ มีเนื้อที่กว่า 15 ไร่ เป็นอาคารชุด จำนวน 720 ห้อง ราคา 1.5 ล้านบาท โดยที่ตั้ง ใกล้ถนนเจริญเมือง ถนนทุ่งโฮเต็ล ห่างจากมหาวิทยาลัยพายัพ ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ,ห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และห่างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร (กม.)
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,062 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2568