นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ภายใต้ยุทธศาตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขอส่งเสริมการลงทุนให้ได้ถึง 5 ล้านล้านบาท จากเดิมที่มีเป้าอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท หลังปี 67 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ การจะดำเนินการให้ได้ตามเป้าดังกล่าวจะต้องดำเนินการกำจัดปัญหาอุปสรรค และเพิ่มโอกาส ประกอบด้วย
สำหรับทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 บีโอไอจะมุ่งเน้นดึงการลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง และเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง อย่างเกษตรและอาหาร พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว รวมถึงกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี บีโอไอยังมีภารกิจสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ของรัฐบาล ผ่านบอร์ดระดับชาติ 2 คณะ คือ คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งจะผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างฐานที่มั่นคงของทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ ทั้งด้านการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม การกำหนดมาตรการสนับสนุน การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมระดับโลก โดยบีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ผ่านการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน SUBCON Thailand กิจกรรม Sourcing Day และการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการจับคู่ธุรกิจกว่า 9,200 คู่ คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 44,000 ล้านบาท
สำหรับการจัดโรดโชว์การลงทุนในปีนี้ บีโอไอมีแผนจัดทัพบุกประเทศเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งต่อยอดฐานอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว