สถานการณ์ปลาหมอคางดำ หลังจากมีมาตรการของรัฐออกมาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ได้เริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม โดยจากระดับวิกฤตลดลงมาอยู่ที่ระดับสีเหลืองและสีเขียว จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน
ล่าสุดกรมประมงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดจาก 19 จังหวัด ได้ลดเหลือ 16 จังหวัดที่ยังพบการระบาดอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่มีปลาหมอคางดำได้หลุดลอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่จะต้องกำจัดออกเพิ่มเติม
สะท้อนถึงมาตรการของภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 ได้เดินมาถูกทาง ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ชุมชน และอีกหลายภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้จัดงบประมาณสำหรับการจัดซื้อปลาหมอคางดำ รวมถึงปล่อยปลานักล่าและนำปลาหมอคางดำที่จับจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ได้จับไปแล้วกว่า 3 ล้านกิโลกรัม
ประเด็นที่สำคัญคือ ปลาหมอคางดำที่หลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่จะต้องกำจัดออกเพิ่มเติม โดยจะแก้ไขปัญหานี้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การกำจัดจากแหล่งเลี้ยงที่ไม่มีเจตนาเลี้ยงออกให้ได้มากที่สุด รวมถึงในธรรมชาติ และได้ของบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 60 ล้านบาท เพื่อนำมารับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 15 บาท และค่าดำเนินการอีก 5 บาท ตั้งเป้าหมายรับซื้อไว้เดือนละ 500 ตัน จนกว่าจำนวนปลาหมอคางดำจะน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กรมประมงให้ความสำคัญกับปัญหาปลาหมอคางดำเป็นอย่างยิ่ง ได้เร่งรัดแก้ปัญหาตลอดมาตามแผนวาระแห่งชาติ รวมถึงในทางวิชาการที่จะเร่งทำปลาหมันให้เกิดผล และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติกลับมา
สำหรับสถานการณ์ปลาหมอคางดำ ในมิติด้านกฎหมายซึ่งมีอยู่ 2 กรณีได้แก่ ศาลแพ่งจะรับการฟ้องร้องเอกชนเป็นคดีกลุ่มหรือไม่ และคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากการใช้ภาพเท็จและข้อมูลเท็จ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ตามกระบวนการ