เนื่องจากปัจจุบันปลามีมูลค่าเพิ่มจากโครงการรับซื้อของภาครัฐ จึงเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะเก็บปลาที่อยู่ในบ่อร้างไว้เพื่อจับขายให้กับภาครัฐ แต่งบประมาณของรัฐมีจำกัดที่จะบริหารจัดการปลาทั้งหมด
เกษตรกรและประมงจังหวัดมีความกังวลร่วมกันว่า ปลาหมอคางดำที่ยังหลงเหลืออยู่ขณะนี้ คือ ปลาที่อยู่ในบ่อร้างเป็นหลักและเป็นพื้นที่ของเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน (ส่วนใหญ่เป็นบ่อกุ้งที่เกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์) และบางส่วนยังมีการปล่อยไว้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและตรวจสอบเร่งรัดให้มีการจับปลาและนำไปใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ภาครัฐประกาศไว้ หรือแจ้งให้ประมงจังหวัดเข้าดำเนินการเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำตามเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้กรมประมง เผยว่า การจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองของหลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำเบาบางลง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่กรมฯ เชื่อว่ายังมีการเก็บปลาไว้ในบ่อเลี้ยงและบ่อร้างไม่น้อย ซึ่งจะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ได้เร็วหากเล็ดลอดได้จากการปล่อยน้ำออกจากบ่อเลี้ยง ทั้งที่ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงไปมากแล้ว
ปัจจุบัน ยังมีบ่อร้างจำนวนมากในประเทศแต่ไม่ตัวเลขและไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ชัดเจน และปลาหมอคางดำในบ่อร้างพบมากทางภาคใต้และภาคตะวันออก และจังหวัดชายฝั่งทะเลอื่น ๆ ที่มีการเลี้ยงกุ้ง การแก้ปัญหาบ่อร้างจึงจำเป็นที่กรมประมงต้องเร่งทำการสำรวจทั้งจังหวัดที่มีการระบาดและจังหวัดที่ไม่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมถึงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบหรือประกาศให้เกษตรกรที่มีบ่อร้างต้องขึ้นทะเบียนกับกรมฯ เข้าไปดำเนินการจับปลาและนำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปแปรรูปเป็นเมนูอาหาร ปลาป่น หรือน้ำหมักชีวภาพ
เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้อยู่ในพื้นที่จำกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงฯ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองปลาหมอคางดำทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่กรมประมงประกาศกำหนดไว้
นอกจากนี้ กรณีมีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตต้องแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง มีภาชนะบรรจุมิดชิด และการเคลื่อนย้ายที่มีการแปรรูปเบื้องต้น ต้องตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ ขณะที่การนำแปรรูปเป็นปลาป่นและน้ำหมักชีวภาพ ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้งและอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปนอกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ตลอดจนมีการกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครองปลาหมอคางดำและเขตพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด
ดังนั้น เกษตรกรควรให้ความร่วมมือภาครัฐ ทำการสำรวจบ่อเลี้ยงของตนเองที่ยังใช้ประโยชน์และบ่อร้างว่า มีปลาหมอคางดำอยู่ในพื้นที่หรือไม่ หากไม่สามารถกำจัดได้เอง ต้องแจ้งประมงจังหวัดหรือประมงในพื้นที่ เพื่อดำเนินการกำจัดตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกไปนอกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมจับปลาที่กรมประมงดำเนินการต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำได้มาก และสามารถดำเนินการปล่อยปลาผู้ล่าลงไปกินปลาหมอคางดำที่หลงเหลือในแหล่งน้ำ ซึ่งในระยะยาวจะดำเนินตามแผนในการเหนี่ยวนำโครโมโซมปลาทำให้เป็นหมันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายอย่างยั่งยืน
บทความโดย : ชาญศึก ผดุงความดี นักวิชาการอิสระ