เช็คทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แนวโน้มเริ่มฟื้น แต่ความเสี่ยงเพียบ

02 ม.ค. 2568 | 07:01 น.
901

เปิดทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แม้ว่าจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายปัจจัย เช็คข้อมูลเชิงลึกทั้ง ปัจจัยสนับสนุน ข้อจำกัด ปัจจัยเสี่ยง รวบรวมไว้ที่นี่ครบ

เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงต้องจับตาหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 2.3 - 3.3% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่2.8% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.6% ในปี 2567

ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

 

เช็คทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แนวโน้มเริ่มฟื้น แต่ความเสี่ยงเพียบ

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัด ที่สำคัญซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน เป็นผลเนื่องมาจากความเสี่ยงของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

รวมทั้งความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดของการขยายตัวอันเนื่องมาจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มความผันผวนในภาคการเกษตร

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ปี 2568

1.การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน

สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2568 ดังนี้

การเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวงเงินรวม 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% จากปีงบประมาณก่อนหน้า เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานอัตราเบิกจ่าย สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่92.1% คาดว่าจะมีเงินงบประมาณเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวม 3.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อน

กรอบงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งสิ้น 2.75 แสนล้านบาท ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 และเพิ่มขึ้น 71.9% จากปีงบประมาณก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

2. การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศ

ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่

การขยายตัวของการนำเข้าที่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2567 เป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง

การเพิ่มขึ้นของยอดการขอรับการอนุมัติ และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ที่มีมูลค่ารวม 7.2 ล้านล้านบาท

การขยายตัวของพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึงกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 6,174 ไร่ นับเป็นขนาดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเริ่มชะลอตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่แม้จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน

 

เช็คทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แนวโน้มเริ่มฟื้น แต่ความเสี่ยงเพียบ

 

3. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น สะท้อนจากจ่านวนนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินระหว่างประเทศมายังประเทศไทย ส่งผลต่อจำนวนที่นั่งเข้าไทย (Seat Capacity) เพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว

รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาล รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดังกล่าวส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภาคการขนส่ง ภาคบริการที่พักและร้านอาหาร รวมถึงภาคการค้ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า

สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก นอกจากนี้ ทิศทางการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวตามยอดคำสั่งซื้อใหม่ (New orders) ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มวัฏจักรขาขึ้นของสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนถึงทิศทางการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปและอาหารของไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดโลกที่ยังสูง โดยการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งส่งผลให้กาถรลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไปยังคงมีความอ่อนไหวสูงมากต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนทั้งรูปแบบและช่วงเวลาของการดำเนินการ

 

เช็คทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แนวโน้มเริ่มฟื้น แต่ความเสี่ยงเพียบ

 

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจไทย ปี 2568 

1. ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญที่คาดว่าจะมีการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อยู่ที่ 89.6% ลดลงเล็กน้อยจาก 90.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงสูงกว่า 82.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน คุณภาพของสินเชื่อยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายรายปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อขึ้นสำหรับสินเชื่อประเภทเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น เช่นเดียวกับธุรกิจ SMEs ที่สถาบันการเงินได้ปรับเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดเงื่อนไขประกอบสัญญาการให้สินเชื่อ โดยเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน และปรับเพิ่มมูลค่าหลักประกัน (Margin) สำหรับกลุ่มธุรกิจเสี่ยงมากขึ้น

3. แนวโน้มความผันผวนในภาคการเกษตร

โดยเฉพาะทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ คาดว่าในปี 2568 ผลผลิตเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่ต้องเผชิญผลกระทบจากทั้งภัยแล้งและอุทกภัย

ทั้งนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตจะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง สอดคล้องกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกทั้งอินเดียและเวียดนามที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ประกอบกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสภาพอากาศในช่วงปี 2568 ที่คาดว่าจะยังคงมีความแปรปรวนสูง อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าในภาคเกษตรให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดไว้ด้วย