ไทยเบอร์ 4 อาเซียน ทำ FTA มากสุด ชี้ทางรอดส่งออก ต้องยืนทั้ง 2 ขั้วการเมืองโลก

15 ธ.ค. 2567 | 04:15 น.

เทียบฟอร์ม FTA กลุ่มอาเซียน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลย์ นำ 3 อันดับแรก ทำเอฟทีเอมากสุด ไทย-อินโดฯ รั้งอันดับ 4 ร่วม กรมเจรจาการค้าฯ เล็งไทย-อียู ปิดดีลสิ้นปี 68 เอกชนผวาไทยเสียเปรียบจัดซื้อจัดจ้าง นักวิชาการชี้ FTA ไม่ใช่สูตรสำเร็จดันส่งออกโต ระบุต้องอยู่ทั้ง 2 ขั้วการเมืองโลก

ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2567ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ (มีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และรอมีผลบังคับใช้อีก 1 ฉบับคือ FTAไทย-ศรีลังกา) ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศผลสำเร็จของการบรรลุผลการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป(EFTA /เอฟตา) นอกจากนี้ในการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU/อียู) รอบที่ 4 มีความก้าวหน้าตามลำดับ

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ภาพจาก : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการเจรจา FTA ไทย-อียูรอบที่ 4 ณ กรุงเทพฯ (25-29 พ.ย. 67) สามารถสรุปได้แล้ว 2 บท (จากทั้งหมด 20 บท) ได้แก่ บทว่าด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ อาทิ การเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ และบทความโปร่งใส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างโปร่งใสในกฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้ เริ่มหารือเกี่ยวกับแนวทาง และกรอบระยะเวลาการยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดการค้าบริการ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างกัน โดยจากนี้จะมีการประชุมในรูปแบบออนไลน์ของทุกกลุ่มเจรจา เพื่อให้การเจรจาในรอบที่ 5 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีความคืบหน้ามากที่สุด และสามารถสรุปผลการเจรจาเพิ่มเติมได้

 “เอฟทีเอกับอียูมีทั้งหมด 20 ข้อบท เวลานี้สรุปได้แล้ว 2 ข้อบท ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความตกลงที่ค่อนข้างยาก และต้องเจรจาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเอฟทีเอมาตรฐานสูงและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์การค้า การลงทุนยุคใหม่ ดังนั้นต้องหาจุดตรงกลางที่มีความยืดหยุ่น และในบางบทต้องพิจารณาขอระยะเวลาผ่อนปรนหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งคณะเจรจาในแต่ละกลุ่มของไทย ตั้งแต่ระดับสูงยันระดับล่าง ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดีเอฟทีเอไทย-อียู จริง ๆ เราได้เซ็ตเวลาไว้ 2 ปีเพื่อให้ได้ผลสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2568”

ขณะที่เอฟทีเอไทย-เอฟตา ที่ได้บรรลุผลสรุปการเจรจาแล้ว ยังต้องผ่านในอีกหลายขั้นตอนเช่น การนำเสนอความตกลงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนลงนามความตกลง และนำสู่การให้สัตยาบันของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ต่อไป ตามขั้นตอนคาดจะใช้เวลานับจากนี้ประมาณ 1 ปี

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ณ ปี 2567 การจัดทำเอฟทีเอของไทยมีรวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ (รวมศรีลังกา) กับ 19 ประเทศ ซึ่งมองว่ายังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดมูลค่าการค้าและการส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้ยังเสียเปรียบการแข่งขันส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่มี FTA ถึง 28 ฉบับ (กับ 65 ประเทศ) รองลงมา คือ เวียดนามที่ปัจจุบันมี FTA ทั้งหมด 16 ฉบับ (กับ 54 ประเทศ) โดย FTA ใหญ่ที่ไทยยังไม่มี แต่เวียดนามมี คือ FTA กับอียู และ CPTPP รองลงมาคือมาเลเซีย มี FTA 16 ฉบับ และอินโดนีเซียมีเอฟทีเอเท่ากับไทยที่ 15 ฉบับ

ไทยเบอร์ 4 อาเซียน ทำ FTA  มากสุด ชี้ทางรอดส่งออก ต้องยืนทั้ง 2 ขั้วการเมืองโลก

“ปัจจุบันปัญหาการค้า ไม่ได้อยู่ที่ความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเท่านั้น แม้ว่าจะมี FTA ก็ตาม แต่ยังขึ้นกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การรวมกลุ่มการเมืองระหว่างประเทศ เช่น BRICS และนโยบายปกป้องเศรษฐกิจของประเทศตนเอง เช่น America First ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้น ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลต่ออัตราขยายตัวเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิต และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ”

ดังนั้นแม้ว่าไทยจะมีจำนวนเอฟทีเอมากขึ้น แต่ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็ทำงานได้ไม่ 100% สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ นอกจากจะทำ FTA แล้ว การเข้าไปอยู่ทั้ง 2 ขั้วการเมืองโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นทางออกของการค้าในปัจจุบัน

ด้าน นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งทีมในการเจรจาการ FTA) ไทย-อียู ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือประเด็นที่อียูได้เสนอให้ไทยเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่การหารือล่าสุด ยังไม่ถึงขั้นตอนสรุปรายละเอียดว่าไทยจะเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับอียูหรือไม่ ส่วนจะมีการหารือกันอีกครั้งเมื่อไรนั้น ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดมา

อย่างไรก็ตาม การที่จะตกลงแบบใดแบบหนึ่งนั้น เราจะต้องดูว่าจะทำอย่างไรที่ไม่ให้มีผลต่อผู้ประกอบการในประเทศ เพราะต้องดูแลส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้การเจรจา FTA จะต้องมองในมุมกว้าง คือ มุมใหญ่ของประเทศ ว่าการมี FTA มีผลดี หรือไม่ดีอย่างไร

“ความต้องการหนึ่งที่อียูเสนอมา คือ จะต้องรวมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย ฉะนั้น ในภาพใหญ่จะต้องดูว่า หากจะต้องมี FTA ก็ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย แต่ในด้านการเจรจานั้น เราก็ต้องเจรจาให้มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยมากที่สุด ทั้งนี้ยืนยันว่า เราจะต้องดูว่าควรจะทำอะไร เพื่อให้การเดินหน้า FTA ไทย-อียูไปต่อได้ ตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลผู้ประกอบการไทย และต้องไม่ผิดหลักกฎระเบียบสากล”

ขณะที่นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หากการเจรจา FTA ไทย-อียู มีการเปิดเสรีต่างชาติจัดซื้อจัดจ้างประมูลงานในไทย 100% ภาคเอกชนและสมาคมฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะกระทบผู้รับเหมาไทย จากนักลงทุนต่างชาติมีความได้เปรียบมากกว่าทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี

 “หากไทยเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐให้อียูจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ และปริมาณงานในมือ ซึ่งปัจจุบันได้มาค่อนข้างยากและต้องต่อสู้กับนอมินี หากเปิดให้ต่างชาติเข้ามาอย่างเสรี เชื่อว่าอนาคตจะกระทบหนักมาก” นายกฤษดา กล่าว