รฟม.เปิดภาพล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” อัปเดตความคืบหน้าก่อสร้าง

14 ธ.ค. 2567 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 10:02 น.

บอร์ด รฟม. ลงพื้นที่โครงการ “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” เปิดภาพล่าสุด พร้อมอัปเดตความคืบหน้าในการก่อสร้าง กำชับ รฟม. ดำเนินงานตามแผน เน้นย้ำก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด ยันตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2571

วันนี้ (วันที่ 14 ธันวาคม 2567) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ รฟม. พร้อมด้วย กรรมการ รฟม. ผู้บริหาร รฟม. และคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และการดำเนินงาน ขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ของหัวขุดเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 2 (Tunnel Boring Machine 2 : TBM No.2) พร้อมเผยผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีความคืบหน้ากว่า 46.34 %

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยและความปลอดภัยในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยได้กำชับให้ รฟม. กำกับดูแลการทำงานของผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาในทุกสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงาน และเน้นย้ำให้การดำเนินงานก่อสร้างอยู่ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้สัญจรผ่านพื้นที่ก่อสร้าง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

อาทิ ตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน การจัดเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย การทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างหลังจากทำงานแล้วเสร็จ รวมถึงการยึดติดป้ายเตือนต่างๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

รฟม.เปิดภาพล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” อัปเดตความคืบหน้าก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรคับคั่ง อาทิ ชุมชน โรงเรียน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตำรวจในท้องที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 คิดเป็น 46.34 % ทั้งนี้ การดำเนินงานในภาพรวมของโครงการอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างกำแพงกันดินสถานี งานก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดิน งานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง งานก่อสร้างเสาเข็ม โครงสร้างสถานีและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ งานปรับพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างอาคารจอดรถไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ ในส่วนของสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน - หอสมุดแห่งชาติ และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า ที่มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีความก้าวหน้ารายสัญญาอยู่ที่ 61.02 %และ 52.95 % ตามลำดับ ซึ่งหัวขุดเจาะอุโมงค์ทั้ง 3 ตัว ของกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ได้เริ่มเดินเครื่องแล้ว 2 ตัว

โดยหัวขุดเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 1 (TBM No.1) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 โดยดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์สายใต้ (Southbound) จากบริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร ปัจจุบันอยู่ที่สถานีศรีย่านมุ่งหน้าไปสถานีวชิรพยาบาล และจะไปสิ้นสุดที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายในเดือนมกราคม 2569 ส่วนหัวขุดเจาะอุโมงค์ TBM No.2

ทั้งนี้ที่คณะ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้านั้น เริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จากบริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างมุ่งหน้าไปสถานีศรีย่านและจะไปสิ้นสุดที่สถานีหอสมุดแห่งชาติ ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และสำหรับหัวเจาะขุดเจาะอุโมงค์ TBM No.3 นั้น มีแผนเริ่มเดินเครื่องหัวขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 ซึ่งตามแผนงานจะไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายในเดือนกันยายน 2568

รฟม.เปิดภาพล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” อัปเดตความคืบหน้าก่อสร้าง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)

นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอดที่เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้ ภายในปี 2571