ด่วน! ศาลฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เจ้าหนี้ “การบินไทย” ค้านมติแก้ไขแผนฟื้นฟู

12 ธ.ค. 2567 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2567 | 14:22 น.
1.6 k

ศาลล้มละลายกลาง เลื่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เจ้าหนี้ “การบินไทย” ร้องเพิกถอนมติแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับที่ 3 ออกไปเป็นวันที่ 21 ม.ค.2568 เพื่อให้เวลาเจ้าหนี้เตรียมเอกสารให้ครบ มีเจ้าหนี้รายไหนบ้างยื่นคัดค้าน เช็คที่นี่

วันนี้ (วันที่ 12 ธันวาคม 2567) แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการนัดพิจารณาคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในวันนี้ กรณีมติการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ฉบับที่ 3 ในการโหวตของเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งในวันนี้มีเจ้าหนี้ จำนวน 9 ราย ได้ร้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว โดยศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 21 มกราคม 2568 เพื่อให้เจ้าหนี้การบินไทยที่ยื่นคัดค้าน เตรียมเอกสารมาให้ครบถ้วน

ด่วน! ศาลฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เจ้าหนี้ “การบินไทย” ค้านมติแก้ไขแผนฟื้นฟู

เจ้าหนี้ "การบินไทย"ยื่นคัดค้าน รวมทั้งหมด 9 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และเจ้าหนี้หุ้นกู้  ดังนี้

1.ธนาคารกรุงเทพ ได้ยื่นแถลงการณ์เพิ่มเติมต่อศาลล้มละลายกลาง ในการคัดค้าน มติที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ใน 2 วาระ ได้แก่ วาระที่ 1 การลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท และวาระที่ 2 การเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ 

2. สหรณ์ออมทรัพย์สุราษฎร์ธานี

3.สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

4.สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

5. สหกรณ์ออมทรัพย์องค์การเภสัชกรรม

6.สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้

7. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

8.นางกิติมา สีตลกาญจน์

9.นายธนายุส โฆสิตสกุล

โดยเจ้าหนี้สหกรณ์ฯที่ได้ยื่นคัดค้านไม่เห็นด้วย กรณีที่มติเจ้าหนี้โหวตผ่านผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ 2 ราย  ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เนื่องจากมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อหวังผลการเสนอการแต่งตั้งบอร์ดการบินไทยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการกุมอำนาจการบริหารงานในการบินไทย

เนื่องจากการเสนอรายชื่อบอร์ดการบินไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นการบินไทยพิจารณา จะเสนอชื่อโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟู จำนวน 5 คน เป็นคนจากภาครัฐ 3 คน (รวมกระทรวงการคลังที่นั่งอยู่เดิม) จะทำให้การเมืองเข้ามาอำนาจ ในการบริหาร ทำให้การบินไทยกลับไปสู่วังวนเดิม และราคาหุ้นที่เจ้าหนี้หุ้นกู้แปลงหนี้เป็นทุนไปแล้วก็จะสูญเสียรายได้ แม้จะไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตก็ตาม และมองว่ากระทรวงการคลังได้แปลงหนี้เป็นทุนไปแล้ว สถานะเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ควรมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

นอกจากนี้ยังพบว่า การนับสิทธิออกเสียงของเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ถูกต้องตามจำนวนหนี้คงเหลือ เนื่องจากเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับการชำระหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุนไปแล้วเช่นกัน จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนับสิทธิออกเสียงใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุมรวมมูลหนี้ราว 1.1 แสนล้านบาท โดยเจ้าหนี้โหวตผ่านทั้ง 3 วาระ ได้แก่

1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยวาระนี้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ทราบว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นกระบวนการทางบัญชี เพื่อประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างทุน จะทำให้ส่วนทุนเป็นบวก และไม่ได้กระทบต่อการชำระหนี้

2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ 

3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง 

สำหรับวาระที่ 3 ซึ่งมีการขอเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากหน่วยงานภาครัฐ เจ้าหนี้โหวตผ่าน โดยโหวตผ่านอยู่ที่ 50.4 % ส่วนฝั่งไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 49.6 % ห่างกัน 0.8%

แหล่งข่าวจากที่ประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เผยว่าในการประชุมวันนั้น มีเจ้าหนี้บางกลุ่มคัดค้านการลงมติของกระทรวงการคลัง เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังแปลงหนี้เป็นทุนครบ 100% ซึ่งส่งผลให้กระทรวงการคลังไม่อาจมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และกลับมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น

แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการแปลงหนี้ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท ส่งผลให้กระทรวงการคลังยังคงสิทธิเป็นเจ้าหนี้การบินไทยจึงสามารถโหวตได้