นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยวางยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน
ประกอบด้วย การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การผลักดันการส่งออก การแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
ความสำเร็จในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคือการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศ EFTA (European Free Trade Association) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์ ที่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในเวลาเพียง 2 เดือน สร้างความประหลาดใจให้กับวงการการค้าระหว่างประเทศ
“เราใช้แนวทาง ‘Trade is about relationship’ ในการเจรจา เพราะไม่มีประเทศใดจะได้หรือเสียทั้งหมด ต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน”
นายพิชัยอธิบายว่า การชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างของรายได้ประชาชาติต่อหัวระหว่างไทยที่มีเพียง 7,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีกับประเทศในกลุ่ม EFTA ที่มีรายได้ต่อหัว 80,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศคู่เจรจามีความเห็นอกเห็นใจและยืดหยุ่นในการเจรจามากขึ้น
การลงนาม EFTA FTA มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงการประชุม World Economic Forum โดยจะมีผู้นำจากทั้ง 4 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของไทยในเวทีการค้าโลก
ความสำเร็จของ EFTA FTA ส่งผลให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งเจรจา FTA กับไทยมากขึ้น โดยล่าสุดมีการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 เข้าสู่การพิจารณารายการสินค้า คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ภายในปี 2568 ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเกาหลีใต้ก็เร่งเจรจา FTA กับไทยเช่นกัน
นายพิชัย กล่าวถึง กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งว่า ด้านการค้าระหว่างประเทศ นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะด้านราคา เพราะต้นทุนสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นจากภาษีที่ถูกเรียกเก็บ ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าแต่ละประเทศในอัตราต่างกัน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเจรจาระหว่างกัน ให้ครอบคลุมหลายประเด็นมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ขณะที่สงครามการค้า ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจีนลดลงต่อเนื่อง เป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าทดแทน เนื่องจากไทยและจีนอยู่บนห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งไทยและจีนมีโครงสร้างการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯคล้ายคลึงกัน สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกทดแทน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
การเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมากถึง 60% อาจทำให้จีนเปลี่ยนฐานการผลิตและเปลี่ยนช่องทางการส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Re-Routing) ซึ่งการเปลี่ยนช่องทางการส่งออกของจีน เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นการส่งออกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยนัก
อีกทั้งอาจส่งผลให้ไทยถูกสหรัฐฯ จับตามอง เพื่อไม่ให้จีนใช้ไทยเป็นทางผ่านขนส่งสินค้าและป้องกันไม่ให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการ ไทยในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น กรณีสหรัฐฯ ประกาศจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 25% เนื่องจากทราบว่าจีนใช้เม็กซิโกเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เม็กซิโกได้รับ
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ การวางตัวเป็นกลางทำให้ไทยสามารถดึงดูดการค้าการลงทุนจากทุกฝ่าย ที่ต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า ไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยเข้มแข็ง
เช่น ยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตในอาเซียน อาหารและเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของไทย เช่น สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นโอกาสของไทย ในการเกาะเกี่ยวห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้แรงงานไทยมีองค์ความรู้มากขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาและบริษัทของไทย มีโอกาสวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ไทยสามารถผลิตส่งออกสินค้ามูลค่าสูงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม “American First” อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากการใช้มาตรการจูงใจทางภาษีดึงดูดการลงทุนกลับสหรัฐฯ (Reshoring) อาจส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ ในไทยย้ายกลับประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัว ของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯในไทยลดลง หรืออาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีบางประเภท
รมว.พาณิชย์กล่าวว่า การเตรียม รับมือของไทย ต้องติดตามสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย แนวโน้มทางการค้า แนวโน้มการใช้มาตรการและการดำเนินการของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย รวมถึงเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก
นอกจากนี้จะต้องดำเนินมาตรการปกป้องผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อป้องกันสินค้าราคาถูก และไม่มีคุณภาพไหลทะลักเข้าประเทศ เช่น ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) กำหนดอัตราภาษีหรือโควตา สำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เป็นต้น
ขณะเดียวกันจะต้องกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ ไม่พึ่งพาประเทศใด ประเทศหนึ่งมากเกินไป ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า มองหาคู่ค้าใหม่ ๆ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทาน
รักษาตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ เจรจา FTA ใหม่ ๆ และเร่งสรุปผลการเจรจาที่ยังค้าง เช่น ไทย - อียู และอาเซียน-แคนาดา และเจรจายกระดับข้อตกลงที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทการค้าปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางการค้า เพื่อเพิ่มแต้มต่อการแข่งขันในตลาดโลก
ที่สำคัญคือต้องเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทย สร้างการจ้างงาน สร้างระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศให้เหมาะสมและเอื้อต่อการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ปรับกฎเกณฑ์การลงทุน เช่น ใช้วัตถุดิบในไทย จ้างงานและถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ให้กับไทย เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนมากขึ้น
ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีจะแตะ 1 ล้านล้านบาท โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น NVIDIA บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลาง AI ในภูมิภาค
ขณะที่ HP ย้ายฐานการผลิต 40% มาไทยและวางแผนย้ายทั้งหมดในอนาคต Western Digital ขยายการลงทุนด้าน Data Center และ Seagate เพิ่มกำลังการผลิต
“ประเทศไทยกำลังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป ต่างต้องการย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยเฉพาะหลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการเจรจา FTA กับ EFTA และมีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงกับ EU ในเร็วๆ นี้” นายพิชัยกล่าว
การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.9% สูงกว่าเป้าหมาย 1-2% ที่ตั้งไว้ โดยเดือนล่าสุดโตถึง 14.6% และคาดทั้งปีจะเติบโตเกิน 4% ซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยมีปัจจัยหนุนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารช่วงเทศกาลและฤดูท่องเที่ยวปลายปี
สำหรับยุทธศาสตร์การส่งออกทั้งในระยะสั้นและยาว มีนโยบายสำคัญคือ เร่งยกระดับและปรับโครงสร้างส่งออกให้ทันสมัย สนับสนุนการผลิตสินค้าส่งออกให้ตอบโจทย์ความต้องการโลก ผลักดันการสร้างธุรกิจและสินค้าส่งออกใหม่ในอุตสาหกรรมศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่ม New S-Curve เช่น PCB เครื่องมือแพทย์
“ไทยเปรียบเหมือนคนที่ผอมมานาน จะให้อ้วนขึ้นในทันทีเป็นไปไม่ได้ต้องค่อยๆ สะสม เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน เราผอมมาหลายปีจะให้ฟื้นตัวในปีเดียวคงยาก แต่ทิศทางกำลังไปได้ดีโดยเฉพาะเมื่อการลงทุนเริ่มฟื้นตัว การส่งออกก็จะตามมา” นายพิชัยเปรียบเทียบ
ด้านปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ รมว.พาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมี 16 หน่วยงานร่วมดำเนินการ มาตรการสำคัญประกอบด้วยการบังคับให้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์จดทะเบียนในไทย ซึ่งล่าสุดแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง เตมู (Temu) ได้จดทะเบียนแล้ว การควบคุมมาตรฐานสินค้าผ่าน อย. และ มอก. รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ด่านศุลกากร
สำหรับการสนับสนุน SMEs กระทรวงพาณิชย์วางแผนพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการจากทุกกรม ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้สะดวก นอกจากนี้ยังสนับสนุนระบบ ERP ในราคาประหยัดหรือให้ใช้ฟรีเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ พร้อมผลักดัน Thailand Brand เพื่อการันตีคุณภาพสินค้าไทย
นายพิชัย มั่นใจว่า ประเทศไทยกำลังเดินมาถูกทางและจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ในอนาคตอันใกล้
“เราต้องเร่งทำงานเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งการเจรจาการค้า การดึงดูดการลงทุน การยกระดับมาตรฐานสินค้าและการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน” นายพิชัยกล่าวทิ้งท้าย