สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย (Federation of Thai Fashion Designers - FTFD) เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี โดยมีเป้าหมายให้สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน พร้อมพัฒนาวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทออย่างครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
กิจกรรมเปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย จัดขึ้นภายในงาน Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีด้วยตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ได้แก่ นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย
นายฐากูร พานิชกุล ดีไซเนอร์ไทยผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สมาชิกของ CFDA (Council of Fashion Designers of America) ที่ได้รับรางวัลจาก Vogue/CFDA Fashion Fund รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจาก CFDA ให้เข้าชิงรางวัล Swarovski Award for Best Emerging Womenswear Designer ในปี 2006 นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และนางโสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director Club 21 (Thailand) Co., Ltd. ดำเนินกิจกรรมเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล
นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย กล่าวว่า สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มแข็งยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้และทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ พร้อมผลักดันให้ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็ง มีศักยภาพและสามารถแข่งขันกับตลาดสากลได้
อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับภาครัฐ สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง นำไปสู่ประโยชน์สูงสุดและการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างเครือข่ายหรือคอมมิวนิตี้ ลให้หมู่ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ระบบโครงสร้างของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
โดยสมาคมฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมและให้ความรู้ ทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์อยู่แล้ว ให้มีทักษะและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีจุดแข็งทางการตลาด สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเน้นความร่วมมือระหว่างสมาชิก ในการมีส่วนร่วมถ่ายทอดและพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสาธารณชนในกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ
“สมาคมฯ เกิดขึ้นจากแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงงานในต่างประเทศ และทรงผลักดันแบรนด์ไทยไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน จึงมีพระประสงค์นำเอาความรู้ที่ทรงงานในต่างประเทศมาแบ่งปันดีไซเนอร์คนไทย ขณะที่ดีไซเนอร์ไทยนอกจากจะนำความรู้มาผลักดันแบรนด์ตัวเอง ยังมีหน้าที่นำความรู้ไปช่วยต่อยอดให้กับชุมชนต่างๆ ให้หมู่บ้านงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ต พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยแบบคู่ขนานกัน”
นอกเหนือจากพลังของความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ สมาคมฯ ยังมุ่งมั่นบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาที่มีภาควิชาเกี่ยวกับแฟชั่น เข้ามามีส่วนร่วมผ่านโครงการประกวดต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสกับโลกธุรกิจจริง ยกตัวอย่างการทำ Incubation Center เนื่องจากแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบเท่านั้น แต่การทำธุรกิจแฟชั่นนั้นต้องอาศัยหลายตัวแปรในการต่อยอดแบรนด์อย่างยั่งยืน
“ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับเป็นนายกกิตติมาศักดิ์ของสมาคมฯ และมีพระปณิธานว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะพัฒนาวงการแฟชั่นไทย ผมเชื่อว่าจะทำให้สมาคมฯ สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแน่นอน โดยผู้ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกฯ ต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือ จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง และจัดทำคอลเลกชั่นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีครึ่ง มีผลงานไม่ต่ำกว่า 5 คอลเลกชั่น”
นายพลพัฒน์ กล่าวว่า จากภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่หดตัวต่อเนื่อง ข้อมูล ttb analytics พบว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสร้างเม็ดเงินสูงถึง 4.17 แสนล้านบาท จ้างงาน 4 แสนตำแหน่ง หรือ 10% ของแรงงานในภาคการผลิต แต่ในปี 2566 มูลค่ากลับลดลง 5.9% เหลือ 3.92 แสนล้านบาท และปี 2567 ล่าสุดหดตัวลง 1.42% อยู่ที่ 3.86 แสนล้านบาท
ด้าน นายฐากูร พานิชกุล ดีไซเนอร์ไทยผู้สร้างผลงานในระดับนานาชาติ สมาชิกของ CFDA (Council of Fashion Designers of America) และได้รับรางวัลจาก Vogue/CFDA Fashion Fund รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจาก CFDA ให้เข้าชิงรางวัล Swarovski Award for Best Emerging Womenswear Designer ในปี 2006 กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ Thakoon ในปี 2005 และได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CFDA ซึ่งเป็นการช่วยต่อยอดการเติบโตของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในกลุ่มดีไซเนอร์ ผู้ผลิต การทำการตลาดและการทำสื่อ
ดังนั้น การที่ประเทศไทยก่อตั้งสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย โดยเฉพาะ Incubation Center หรือ ศูนย์บ่มเพาะดีไซเนอร์เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ในการส่งเสริมให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้มีเวทีในการแสดงออกและเปิดประสบการณ์ ซึ่งหลังจากไม่ได้ชมผลงานแฟชั่นไทยมา 7 ปี ถือว่าผลงานของดีไซเนอร์วันนี้แตกต่างจากในอดีต ออกแบบทันสมัยขึ้น ทั้งการออกแบบแพทเทิร์น ลวดลาย การนำแฟชั่นแบบสตรีตเข้ามาผสมผสาน การจับคู่วัสดุหรือเนื้อผ้าที่ใช้ รวมถึงการเลือกใช้สีสัน ที่ช่วยยกระดับผ้าไทยที่มีความโดดเด่นเรื่องงานฝีมือให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่สามารถต่อยอดและพัฒนางานฝีมือต่อไปได้
นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชั่น และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทของสื่อมวลชนกับการผลักดันวงการแฟชั่นไทยสู่ระดับสากลนั้น สื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการเป็นกระบอกเสียง เพื่อนำเสนองานฝีมือของคนไทยไปยังสายตาชาวโลก ฉะนั้นการมีสมาคมฯ จะทำให้การร่วมมือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้เมื่อมีหน่วยงานต่างประเทศติดต่อมา ประเทศไทยยังไม่ได้มีเจ้าภาพหรือตัวกลางที่จะเชื่อมต่อทุกภาคส่วน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้เมื่อก่อตั้งสมาคมฯ แล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีเสาหลัก มีสื่อกลางในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไปสู่หนทางที่ดีที่สุดสำหรับดีไซเนอร์ไทย พร้อมกับการสนับสนุนให้เกิด Incubation Center ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะค่อยลองผิดลองถูกเอง เพราะธุรกิจแฟชั่นไม่ใช่ธุรกิจที่ง่าย ต้องมีคนคอยแนะนำและจูงมือไปตลอดทาง"
ขณะที่ นางโสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director Club 21 (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า แบรนด์ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ไหนในโลก สิ่งที่เป็นความท้าทายของแบรนด์แฟชั่นไทยคือ จะทำอย่างไรให้แบรนด์อยู่รอด เพราะคุณภาพดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องสามารถขายได้ด้วย การมีสมาคมฯ จึงเสมือนมีตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีประสบการณ์ในการทำการตลาด ซึ่งจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้อย่างดี
“ที่ผ่านมา Club 21 เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมแบรนด์ไปหาลูกค้าเข้าด้วยกัน ทาง Club 21 ก็เริ่มมีการทำงานร่วมกับแบรนด์ไทย โดยจะคัดเลือกแบรนด์ที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามข้อ คือ เรื่องราว (Story) การสร้างแบรนด์ (Branding) และคุณภาพที่ดี เพราะส่วนตัวเชื่อว่าแบรนด์ไทยไม่แพ้ใคร แต่จะทำอย่างไรเพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ใส่ได้และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ สามารถทำให้เป็นเหมือนผลงานศิลปะบนตัวผู้สวมใส่”
อย่างไรก็ตาม งาน Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 - 7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผ้าไทยผ่านนิทรรศการโซนต่างๆ พร้อมการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศกว่า 200 บูท และอาหารชวนชิมกว่า 50 ร้านค้า