แรงงานยานยนต์ 4.6 แสนคน เสี่ยงตกงาน สัญญาณปลดคนออกชัด

07 ธ.ค. 2567 | 16:31 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2567 | 16:34 น.
798

จับตาสถานการณ์แรงงานเริ่มน่ากังวล สศช.แจ้งข้อมูลใหม่ แรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ กว่า 4.6 แสนคน เสี่ยงตกงาน หลังพบสัญญาณปลดคนงานออกชัดเจนขึ้น แนะหาทางรองรับด่วน

สถานการณ์ด้านแรงงานกำลังมีสัญญาณที่น่ากังวลเกิดขึ้น โดยเฉพาะหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จนอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยมีประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือการส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 

ทั้งนี้ สศช. ระบุว่า ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในสาขาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ที่รองรับแรงงานไว้ประมาณ 4.6 แสนคน กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้รถยนต์ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สันดาปของสถานประกอบการในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยยอดการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน ปี 2567 ลดลง 28.3% จากปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ด้านการจ้างงานพบว่าเริ่มมีการปลดคนงานออก โดยผลการสำรวจผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จากภาวะเศรษฐกิจและการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ EV ของชมรมผู้บริหารบุคคลธุรกิจอุตสาหกรรม (MAC+) พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 สถานประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการประกอบรถยนต์ จำนวน 83 แห่ง มีจำนวนพนักงาน ลดลงจากเดือนมกราคม 2567 ประมาณ 3,500 คน 

อีกทั้งสถานประกอบการมากกว่าครึ่งมีการงดการทำงานล่วงเวลา (OT) รวมทั้งมีการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง และการเปิดโครงการสมัครใจ ลาออก/เกษียณอายุก่อน 60 ปี (Early Retirement) สำหรับพนักงานประจำ

ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อสถานะการจ้างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาจต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริม การปรับตัวของผู้ประกอบการให้สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบบใหม่ หรือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตอื่น รวมถึงมีแนวทางในการ upskill และ reskill ให้แก่แรงงาน เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้

พร้อมกันนี้ สศช. ยังเสนอแนะให้เร่งเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หลังจากการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่า อุตสาหกรรม ที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่

ส่วนหนึ่งมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อาทิ กิจการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจร การผลิตแผงวงจร อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การผลิตเครื่องจักรความแม่นยำสูง การผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน 

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล ปี 2566 ของ IMD สะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรของไทยยังมีจุดอ่อน และยังต้องพึ่งพาแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติ 

ดังนั้น เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว ตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นในอนาคต ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านกำลังคนต้องเร่งการผลิตและพัฒนาทักษะของแรงงานไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้าน STEM ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพด้วย