กยท. ประเมินน้ำท่วมใต้ ทุบสวนยางเสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน

02 ธ.ค. 2567 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2567 | 12:05 น.
593

บิ๊ก กยท. ประเมินสวนยางใต้จมน้ำ 8 จังหวัด พื้นที่กว่า 5 ล้านไร่ ทุบสวนยาง- รายได้ เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท เร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด เยียวยารายละ 3,000 บาท

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายอำเภอในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ซึ่ง กยท. ได้รับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว

กยท. ประเมินน้ำท่วมใต้ ทุบสวนยางเสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน

รวมถึงผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ซ้ำเติม ทำให้ส่งผลกระทบพื้นที่สวนยางเปิดกรีด คาดผลผลิตยางจะลดลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณยางพาราเข้าสู่ตลาด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเขตภาคใต้ตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยมีพื้นที่เปิดกรีดจำนวน 5,327,928 ไร่ (ที่มาข้อมูล: การยางแห่งประเทศไทย) ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่

โดยปริมาณยางพาราที่เกษตรกรชาวสวนยางเสียโอกาสที่จะได้ผลผลิตเฉลี่ยระยะวันกรีดในช่วง 1 เดือนครึ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยใช้ระบบกรีดแบบวันเว้นวัน คือประมาณจำนวน 20 วัน ให้ผลผลิตประมาณวันละ 3 กิโลกรัม/ไร่ รวมจำนวนทั้งสิ้น 319,675,680 กิโลกรัม หรือประมาณราว 319,675 ตัน หากปัจจุบันราคา 65 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าที่เสียโอกาส จำนวน 20,778,919,200 บาท หรือประมาณมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถขอคำแนะนำการฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำลดและการดูแลรักษาสวนยางรวมถึงการช่วยเหลือในด้านสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนได้จาก กยท. ทุกจังหวัด ได้มีการอนุมัติจัดสรรเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนปัจจัยยังชีพกรณีครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนยางประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามมาตรา 49(5) ซึ่งจัดสรรเงินจำนวน 400,000 บาท (จังหวัดละ 100,000 บาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้ กยท. ในพื้นที่ในการส่งมอบถุงยังชีพที่บรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค ยารักษาโรค และสิ่งของที่จำเป็น ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว