จี้รัฐคลอดมาตรการกระตุ้นค้าปลีกสินค้า-บริการโตต่ำ ผวาลากยาวถึงต้นปี 68

01 ธ.ค. 2567 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2567 | 15:01 น.

เอกชนโอดค้าปลีกสินค้าและบริการโตต่ำ ผวาลากยาวถึงต้นปี 68 จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค ทั้งเร่งงบเบิกจ่ายภาครัฐ ส่งเสริม SME ปลดล็อกมาตรการด้านภาษี ดันเศรษฐกิจโตถ้วนหน้า ไม่กระจุกเฉพาะเมืองหลวง เมืองท่องเที่ยว

แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน เห็นได้จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีจากภาครัฐ รวมถึงการเติบโตของค้าปลีก แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆและไม่สมดุล ทั้งประเภทร้านค้าปลีกและประเภทภูมิภาคเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยร้านค้าปลีกประเภทแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์, สเปเชียลตี้สโตร์,และเชนภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 3-7%,

ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง เติบโต 2-5% ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โตน้อยสุด 1-3% โดยเป็นการเติบโตแบบกระจุกตัวในกรุงเทพปริมณฑล ภาคตะวันออก และในเมืองตามจังหวัดท่องเที่ยว ดังนั้นการผลักดันมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่ายของคนไทยให้เพิ่มขึ้นได้

ชู “อาหาร” กระตุ้นท่องเที่ยว

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อยากให้รัฐบาลช่วยกระตุ้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านการใช้ “อาหาร” เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่างโครงการที่สมาคมจัดขึ้น เช่น การนำร้านอาหารจาก 15 จังหวัดมาจัดแสดงที่ TFTM ซึ่งเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ทางอาหารของแต่ละภูมิภาคให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ทำให้เกิดการเดินทางไปยังแหล่งผลิตอาหารเหล่านั้น รวมถึงการพัฒนาแหล่งรวมร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในแต่ละจังหวัด เช่น อุดรธานี ขอนแก่น และโคราช จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังพื้นที่เหล่านั้น และการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ตลาดโต้รุ่งที่ได้มาตรฐาน จะช่วยสร้างประสบการณ์การกินที่น่าสนใจและแตกต่างให้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการบอกต่อและกระตุ้นให้คนอื่นๆ เดินทางมาสัมผัสด้วย

“มองว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น ซึ่งการนำเสนออาหารท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งการส่งเสริมอาหารไทยจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเชื่อว่าจะมีการเติบโต แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่มีการเติบโตที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมและการลดลงของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

จี้รัฐคลอดมาตรการกระตุ้นค้าปลีกสินค้า-บริการโตต่ำ ผวาลากยาวถึงต้นปี 68

ในส่วนธุรกิจร้านอาหารคาดว่าจะมีการเติบโต มองว่าไทยมีศักยภาพ โดยประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุมและทันสมัย ทั้งสนามบิน รถไฟ รถโดยสาร และเรือ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สะดวกสบาย

เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทย กล่าวว่า ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายที่มีความผันผวน เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นการค้า การลงทุนของผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การปรับตัวภาคเอกชนเพียงด้านเดียวไม่สามารถเร่งให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและผลิตภาพทรัพยากรมนุษย์ได้ทันท่วงที ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

“ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 คือ สถานการณ์ทางการเมืองการเปลี่ยนผ่านผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มีการลงทุนในภาคการผลิตอย่างมาก ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจไทยมีเสน่ห์ดึงดูดใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และยกระดับกำลังคนทั้งผู้ประกอบการและแรงงานให้มีทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถแข่งขันรองรับการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายการลงทุนมาประเทศไทย”

ไร้สัญญาณฟื้นตัวจนถึงต้นปี 68

ด้านนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานมากนัก นโยบายตระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอยู่เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน อย่างการแจกเงิน 10,000 บาท ที่เป็นนโยบายประชานิยมก็ไม่ก่อเกิดผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ แม้ผู้ประกอบการจะพยายามดำเนินกิจการให้สอดคล้องตามนโยบายก็ตาม

ในฐานะภาพเอกชนและเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการค้า มองว่าหากรัฐบาลยังใช้วิธีการดำเนินงานแบบเดิมจะทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะนำมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ได้ ยกตัวอย่างห้างค้าส่ง-ค้าปลีกภูธรยังต้องปรับตัวและผนึกกำลังทั่วประเทศกว่า 90-100 แห่ง จัดโครการ Local Low Cost พยายามดิ้นรนด้วยตัวเอง

เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอย่างเต็มกำลัง และทำมานานนับปีกว่า ในกรณีนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยโปรโมท ส่งเสริม ต่อยอด เพื่อให้เกิดการตระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น ส่วนนโยบายอื่นก็ขับเคลื่อนต่อไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง การท่องเที่ยวต่างๆ

“ในไตรมาสสุดท้ายมองว่าเศรษฐกิจตอนนี้ยากมาก ส่งผลให้ภาพรวมปี 2567 จนถึงช่วงต้นปี 2568 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะยังคงทรงตัวเหมือนเดิม อาจมีกระเตื้องขึ้นมาบ้างในช่วงปีใหม่ แต่ส่วนนี้จะเกิดจากการจับจ่ายใช้สอยโดยส่วนตัวเนื่องจากคนกลับบ้านช่วงเทศกาล ไม่ใช่จากนโยบายของรัฐบาลที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ต และภาพของเศรษฐกิจจะกระจุกตัวไม่กระจายอย่างทั่วถึง”

จี้รัฐขยับตัวกระตุ้นเศรษฐกิจโต

สถานการณ์ภาพรวมค้าปลีกในปีนี้แม้จะยังไม่สดใสเท่าที่ควร จากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการค้าปลีก อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเกินกว่า 37% ผลิตหรือสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสมไว้ก่อนแล้ว การหดตัวด้านการลงทุน

ที่ส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและการบริโภคหนี้ครัวเรือนสูง และภาระหนี้สินของเอสเอ็มอี รวมทั้งมาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดและยังต้องรอความชัดเจนในเฟสต่อไปที่จะแจกให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเดินหน้าได้แก่ รัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปี 2568 ให้ทันท่วงที และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินทั้งการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้รุดหน้า การเสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย การเพิ่มโอกาสทางการค้า การขยายช่องทางการตลาด การจำหน่ายสินค้า การออกมาตรการในการป้องกันการทะลักของสินค้าจีนราคาถูก การเพิ่มการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศ

รวมถึงการคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างโมเมนตัมการใช้จ่ายอย่างได้ผล เช่น ช้อปดีมีคืน, Easy E-Receipt การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของภาคผลิต ด้วยนโยบายจูงใจต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งเครื่องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และการยกระดับไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น พิจารณาลดภาษีสินค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,049 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567