เอกชนท่องเที่ยว ชงรัฐบาลดันเมกะโปรเจกต์แก้น้ำท่วมเชียงใหม่ หวั่นซ้ำรอย

29 พ.ย. 2567 | 06:23 น.

เอกชนท่องเที่ยว เตรียมหารือรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ชงรัฐบาลรับข้อเสนอผลักดันเมกะโปรเจกต์ลงทุนแก้น้ำท่วมเชียงใหม่ ป้องกันซ้ำรอยน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และเสนอให้เร่งเจรจาเพื่อนบ้านแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน

น.ส.วารุณี คำเมรุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมหารือร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางการขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยในส่วนของเอกชนภาคการท่องเที่ยว จะเสนอให้รัฐบาลผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมกว่า 300 ล้านบาท

สำหรับข้อเสนอรัฐบาลผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่ เพื่อป้องกันน้ำท่วม มีโครงการสำคัญคือ 

1. เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงการพ่อสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ หลังทดลองทำในพื้นที่นำร่องแล้วใน ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และประสบความสำเร็จ จึงต้องการให้ขยายพื้นที่ต่อเนื่อง

2.เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยผันน้ำจากอ.แม่แตงและแม่ริม ออกไปสู่เขื่อนแม่งัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ ได้

"ทั้งสองโครงการจะต้องทำควบคู่กัน เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เชียงใหม่ได้ดีขึ้น เพราะน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายจำนวนมาก และกระทบทั้งชาวบ้าน และภาคธุรกิจ ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการลงทุนเหล่านี้ออกมา เพราะที่ผ่านมาทำมานานแล้ว" น.ส.วารุณี ระบุ

น.ส.วารุณี กล่าวว่า นอกจากการเร่งรัดโครงการลงทุนแล้ว เอกชนยังเสนอแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเสนอให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น 1% ของรายได้ผู้ประกอบการ 6 เดือน และเร่งรัดการลดการจัดเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3% โดยเร็ว หลังจากเรื่องนี้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคังใช้

นอกจากนี้ยังเสนอการแก้ปัญหาหมอกควันที่กระทบกับภาคท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนืออย่างจ.เชียงใหม่ โดยจะเสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาเรื่องของหมอกควันข้ามพรมแดนที่จะต้องไปหารือกับประเทศใกล้เคียงในการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนงบประมาณในการทำฝนเทียมเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาหมอกควันลงได้