"ญี่ปุ่น" เล็งขยายลงทุนเพิ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ ดันไทยฐานการผลิต

28 พ.ย. 2567 | 11:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 11:27 น.

"ญี่ปุ่น" เล็งขยายลงทุนเพิ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ ดันไทยฐานการผลิต หลังมูราตะเตรียมสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก และได้ดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน จะมีการลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 

โดยอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่ จะใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors: MLCC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ใช้เพิ่มความเสถียรในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ และดาวเทียม ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40% 

ทั้งนี้ เมื่อโรงงานผลิตแห่งใหม่ดังกล่าวแล้วเสร็จจะเสริมให้บริษัท มูราตะ มีฐานการผลิต MLCC ในต่างประเทศ 4 แห่ง คือ เมืองอู๋ซี ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ส่วนอีก 2 แห่งในเมืองฟูกูอิ และอิซูโมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมูราตะ มีการวางแผนขยายกำลังการผลิต ปีละ 10% 
 

ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูราตะได้ขยายกำลังการผลิตของ MLCC กว่า 3 เท่า เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเติบโตทั้งระยะกลางถึงระยะยาวในความต้องการชิ้นส่วน MLCC ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้งานของสมาร์ตโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วน อุปกรณ์ IoT ที่มากขึ้น

"ญี่ปุ่น" เล็งขยายลงทุนเพิ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ ดันไทยฐานการผลิต

อย่างไรก็ดี มูราตะถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดลำพูน เมื่อ 35 ปีที่ผ่านมา และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือคิดเป็น 40% ของมูลค่าการลงทุน ในจังหวัดลำพูน สร้างการจ้างงานกว่า 4,000 ตำแหน่ง 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูราตะเลือกมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือของไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านแรงงาน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าแรงที่ถูกกว่าพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงไม่มีมีปัญหาในการแย่งชิงแรงงาน และปัจจัยด้านการขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักเบา จึงมีต้นทุนการขนส่งต่ำ และใช้การ ขนส่งทางอากาศได้ 

นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย มีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนสูงถึง 1,973 ราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 29% ของจำนวนนักลงทุน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหารและยาง
 

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงทุนของมูราตะไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และการจ้างงานในพื้นที่ แต่ยังเป็นการมุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า บริษัท มูราตะ ร่วมกับ กนอ. ในการเปลี่ยนแปลงสภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 และจะดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นเขตประกอบการเสรี และการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2570 

ขณะเดียวกันทางบริษัท มูราตะ ยังมีแผนที่จะขยายการลงทุน สร้างโรงงานขนาดใหญ่อีก 2 โรงงาน (พื้นที่รวม 120,000 ตร.ม.) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน เพื่อผลิตตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MLCC) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 

นอกจากนี้ บริษัท มูราตะ ยังคงมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ในโรงงานให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งเร็วกว่าแผนปกติที่วางไว้ในปี 2593 ขณะที่เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2593