“การบินไทย” เนื้อหอม สบช่องการเมืองแทรกแซง จ้องฝูงบินใหม่ 30 ลำ

12 พ.ย. 2567 | 13:14 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2567 | 17:01 น.

“การบินไทย” หลังการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้สถานะของการบินไทยขณะนี้จึงเนื้อหอม เพียงพอที่จะดึงให้การเมือง มองโอกาสที่จะกลับเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง เจ้าหนี้ พนักงานการบินไทย ระส่ำผวาปูทางการเมืองคุมอำนาจ ทั้งจ้องฝูงบินใหม่ 30 ลำ

กว่า 4 ปี 5 เดือน “การบินไทย” ต้องสู้ด้วยตัวเอง จนผ่านพ้นวิกฤต และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทุน เพื่อเตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 2 ปีหน้า ทั้งวันนี้การบินไทยยังพลิกจากการขาดทุน 1.4 แสนล้านบาท ในปี 2563 กลับมาทำกำไรต่อเนื่อง มีกระแสเงินสดในมือกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท หลังการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้สถานะของการบินไทยขณะนี้จึงเนื้อหอม เพียงพอที่จะดึงให้การเมือง มองโอกาสที่จะกลับเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง

การบินไทยผวาการเมืองแทรกแซง

จากแรงกระเพื่อมล่าสุดที่ทำให้เจ้าหนี้และคนในการบินไทย ต้องหวาดผวาอีกครั้ง เมื่อกระทรวงการคลัง ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน จากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เข้ามาร่วมเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

การบินไทย

โดยได้มีการเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากที่ประชุมมีมติให้เลื่อนโหวตการประชุมผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก็ยังคงต้องจับตามอง และเจ้าหนี้หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้การบินไทย 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท

กระทรวงการคลังใช้เหตุผลอะไรทำไมจึงเสนอขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูขึ้นมาอีก หรือหากจะมองว่าเป็นการใช้สิทธิความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ด้วยสถานะที่แท้จริงวันนี้มูลค่าหุ้นก็แทบจะเป็นศูนย์แล้ว จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตามหากทำสำเร็จ นั่นหมายถึงว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ก็จะมีตัวแทนจากภาครัฐถึง 3 คน จากเดิมที่กระทรวงการคลังก็มีตัวแทนอยู่แล้ว 1 คน คือ “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการร่วมกับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งก็ได้ร่วมบริหารแผนฟื้นฟูมาอย่างยาวนานนับจากตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพฯ ได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูตั้งแต่ช่วงแรก

ดังนั้นการที่กระทรวงการคลัง เสนอส่งตัวแทนเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่ง และเพิ่มตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมเข้ามาด้วย ก็ทำให้ภาครัฐครองเสียงข้างมากเป็น 3 : 2 ทำให้เริ่มมีความกังวลว่ากระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ หรือจะมีการเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการของการบินไทยในอนาคตหรือไม่ เพราะด้วยไทม์มิ่งก็แทบไม่จำเป็นต้องเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูให้ครบ 5 คนอยู่แล้ว ทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการบินไทย

การปรับโครงสร้างทุนการบินไทย

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะอ้างว่าการเพิ่มผู้บริหารแผนจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจและสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลายคนก็มองว่าฟังไม่ขึ้น และยังไม่ถึงเวลา ถ้าการบินไทยมีความต้องการจริง ก็สามารถเสนอได้ในอนาคต

กังขาจ่อตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูภาครัฐเพิ่ม กรุยทางนั่งบอร์ดการบินไทย

เนื่องจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เพราะในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ การบินไทยก็จะมีการปรับโครงสร้างทุน โดยให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน เพิ่มทุน และจะเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง ขอออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า และต่อไปก็จะมีการตั้งคณะกรรมการบริษัทฯเข้ามาบริหารการบินไทย ทำให้อีกไม่กี่เดือนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการก็จะหมดหน้าที่แล้ว

โครงสร้างการบินไทย หลังปรับโครงสร้างทุน

สเต็ปต่อไปหลังการปรับโครงสร้างทุน คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมต่อผู้ถือหุ้นใหม่ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดของการบินไทย ในราวเดือนเมษายนนี้ ที่ตามระเบียบจะอยู่ที่ 15 คน แต่จะมีการแต่งตั้ง 9 คน 11 คน หรือ 13 คนก็ได้ การแต่งตั้งบอร์ดการบินไทย เป็นเรื่องสำคัญ

เพราะจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเดินทางการบินในอนาคต และแม้การปรับโครงสร้างทุนที่จะเกิดขึ้นการบินไทยจะยังไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่การวางหมากที่จะมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามานั่งเป็นบอร์ดมีอำนาจในการควบคุมบริษัทได้ ก็นับว่าไม่ต่างกันกับการบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเท่าไหร่

กังขาจ้องจัดหาฝูงบินใหม่การบินไทย 30 ลำ

นอกจากนี้เป็นที่รู้กันดี การบินไทยยังมีแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่งยังมีเครื่องบินอีก 30 ลำ ที่การบินไทย ได้ตกลงกับทางโบอิ้งไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เฟริมออร์เดอร์ ว่าจะสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใด ก็เชื่อว่าการเมืองก็คงจับจ้องจุดนี้อยู่ เพราะยังสามารถที่จะเข้ามาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ได้ หรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้

ตามแผนการจัดหาฝูงบินของการบินไทย เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดกลับขึ้นมาอีกครั้ง จาก 21 % ขึ้นมาอยู่ที่ 30-35 % โดยการบินไทยมีแผนจะจัดหาฝูงบินจาก 70 ลำในปี 2566 เพิ่มเป็น 143 ลำ ภายในปี 2572 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งมีทั้งการเช่า และการเช่าซื้อ

โดยก่อนหน้านี้การบินไทยในได้คอนเฟิร์มออร์เดอร์จัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จากโบอิ้ง 45 ลำ ด้วยวิธีการจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์จากผู้ผลิตโดยตรงไม่ผ่านเอเย่นต์ หรือ ล็อบบี้ยีสต์ ไม่มีค่าคอมมิชชั่น และเป็นการตัดสินใจเลือกรุ่นจากความต้องการของการบินไทยอย่างแท้จริง ขณะที่ส่วนลดที่ได้รับการจะเข้าการบินไทยทั้งหมด

แตกต่างจากในอดีตที่มักจะเป็นการซื้อผ่านเอเย่นต์ หรือ ล็อบบี้ยีสต์ ที่มักเขียนแผนเพื่อให้ได้สั่งซื้อเครื่องบินที่การบินไทยไม่ได้มีความต้องการจริง แต่เป็นตามใบสั่ง อย่าง แอร์บัสเอ 340 ที่บินไปนิวยอร์ค ที่ขาดทุนปักโกรก ท้ายสุดก็ไม่คุ้มบิน ดังนั้นเมื่อการเมืองเตรียมจะกลับมาแทรกแซงอีกครั้ง ทำให้เกิดผวากันถ้วนหน้า

เพราะในอดีตที่ผ่านมาการบินไทยก็มีบทเรียนที่เจ็บปวดจากการเข้ามาล้วงลูกการทำงาน การแสวงหาผลประโยชน์ และความแตกแยกในองค์กร เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร นำคนของตัวเองเข้ามาคุมบังเหียน ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของบอร์ดที่ส่วนใหญ่มาจากตัวแทนภาครัฐ และการติดกับดักความเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ไม่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้

การบินไทย

วันนี้เมื่อการบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เจ้าหนี้และคนไทยส่วนใหญ่ก็มองว่าภาครัฐก็จะไม่ควรที่จะเข้ามาแทรกแซงอย่างในอดีต อีกทั้งการออกมาเดินเกมส์ของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างทุนของการบินไทยอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะกระทรวงการคลัง ก็ยังจะต้องแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเป็นภาคบังคับตามที่ศาลสั่งอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการแปลงหุ้นเพิ่มทุน อาจมีผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้นเดิมได้ หากการเมืองเข้ามาแทรกแซง ก็อาจจะทำให้การบินไทยได้จำนวนเงินที่น้อยกว่าที่คาดไว้ได้

เจ้าหนี้การบินไทยออกโรงคัดค้าน

ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้  ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงการบินไทย ระบุว่า ไม่เห็นว่าการเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลัง เพื่อมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จะยังประโยชน์แก่เจ้าหนี้ การบินไทย และยังประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด

การเพิ่มจำนวนผู้แทนดังกล่าวมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่การบริหารจัดการต่างๆ มีความลงตัว และคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท เจ้าหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่การบินไทยหากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทชุดแรกที่ทรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ

การเพิ่มจำนวนผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวน 2 คนนั้น เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผู้บริหารแผนฯ มีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัทโดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบิน และจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเจ้าหนี้ ภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลอย่างดี จึงไม่สมควรเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชน และไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้ทั้งปวงเยี่ยงนี้

บทสุดท้ายจะสกัดการเพิ่มผู้บริหารแผนจากภาครัฐได้หรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่เจ้าหนี้เป็นสำคัญ

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567