"สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ" รอบใหม่เสี่ยงปะทุสู่ "สงครามเย็น" รอบใหม่

11 พ.ย. 2567 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2567 | 09:45 น.

"สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ" รอบใหม่เสี่ยงปะทุสู่ "สงครามเย็น" รอบใหม่ อนุสรณ์ ธรรมใจแนะไทยควรวางสถานะอิสระอย่างมียุทธศาสตร์ การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใดให้พิจารณาเป็นรายประเด็น

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ได้ในไม่ช้า ไทยควรวางสถานะอิสระอย่างมียุทธศาสตร์ การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใดให้พิจารณาเป็นรายประเด็นด้วยกลยุทธที่มีกรอบยุทธศาสตร์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาพยายามรักษาสถานะในฐานะประเทศมหาอำนาจหนึ่งเดียวหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นรอบแรก และไม่ยอมให้ประเทศใดมีโอกาสท้าทายอำนาจนั้น สหรัฐฯคงยุทธศาสตร์ระดับโลกยึดโยงกับประเทศพันธมิตรในยุโรปและเอเชียในการปิดล้อมบทบาทของจีนและรัสเซีย 
 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นของรัฐบาลทรัมป์จะทำให้บทบาทของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลกทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จีนเองก็อ่อนแอลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน 

รัสเซียอ่อนแอลงจากสงครามยูเครนและปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในของรัสเซียเอง พันธมิตรประชาชาติประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนจะอ่อนกำลังลง สหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ผ่านระบบทวิภาคี โดยให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนน้อยลง แต่จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นแกนกลางของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในยุครัฐบาลทรัมป์

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกจะเกิดขึ้น ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้เช่นเดียวที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังข้อตกลง Plaza Accord ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น สงครามการค้าทรัมป์ 1.0 มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯจากจีน ในช่วงปี 2560 - 2566 ลดลงถึง 15%
 

แต่จีนก็ยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 ของสหรัฐ ด้วยมูลค่าการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2568 หากมีการตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% กับจีนตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงเอาไว้ ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนจีนได้ถ้าสินค้าไทยแข่งขันได้ สงครามการค้าครั้งก่อน มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยและอาเซียน เพิ่มขึ้นสูงถึงมากกว่า 80% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการแสวงหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนจีน

ขณะเดียวกัน งานวิจัย ของนายวิชญ์ยุตม์ สุขแพทย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-2566 ไทยได้สัดส่วนในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 0.5% (จาก 1.3% เป็น 1.8%) แต่ไทยสูญเสียตลาดในสหภาพยุโรปและอาเซียน 0.1% และ 0.5% ตามลำดับ ในขณะที่จีนได้ส่วนแบ่งในสหภาพยุโรปและอาเซียนกว่า 2.0% และ 5.2% แสดงให้เห็นว่าจีนมีการย้ายตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร