“ทรัมป์” พลิกกลับ เมินลดโลกร้อน จับตาสะเทือน “กรีนบอนด์-กรีนไฟแนนซ์”ไทย

10 พ.ย. 2567 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 16:53 น.

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จับตา “ทรัมป์” พลิกกลับนโยบาย ลดความสำคัญลดโลกร้อน หันส่งเสริมอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอน กระทบออกกรีนบอนด์-ปล่อยกู้กรีนไฟแนนซ์ไทย ไม่เฟื่องฟูเท่าสมัยไบเดน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่โดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมานั่งเก้าอี้ ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากนโยบายที่ได้หาเสียง และผลงานที่ได้ทำไว้ในสมัยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45  หากเทียบกับนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ที่ยังอยู่ในอำนาจและเตรียมถ่ายโอนอำนาจให้โดนัลด์ ทรัมป์ในเร็ว ๆ นี้

พบว่านโยบายด้านต่าง ๆ ของทรัมป์ แตกต่างจากนโยบายของไบเดนแบบพลิก 360 องศา เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ช่วงรัฐบาลไบเดนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน เรื่องคาร์บอนเครดิต เรื่องลดพลังงานจากฟอสซิล และเน้นเรื่องพลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน ส่งผลให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ปล่อยสินเชื่อทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการการลงทุนตามเทรนด์ใหม่ของโลกที่ยึดโยงไปตามแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดโลกร้อน

ขณะที่ทรัมป์ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน โดยระบุว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาของโลกเป็นการ "โกหกสีเขียว" โดยทรัมป์ไม่สนับสนุน USCBAM และในสมัยเป็นประธานาธิบดีได้ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายร้อยฉบับ และประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ทรัมป์สนใจและให้ความสำคัญกับการอุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมัน และผลิตน้ำมันจากฟอสซิล การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และสนับสนุนอุตสาหกรรมการถลุงเหล็ก

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“หากถามว่าในยุคทรัมป์ เขาจะนำสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีส หรือข้อตกลงลดโลกร้อนอีกครั้งหรือ (สมัยไบเดนได้กลับเข้าร่วมความตกลง) รอบนี้คงไม่ออก แต่ก็จะไม่ให้ความสำคัญในการให้การสนับสนุน เช่นการสนับสนุนทางการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากเป็นทรัมป์ คงไม่ให้การสนับสนุน เพราะทรัมป์เน้นการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ยังปล่อยคาร์บอนอยู่ ขณะที่ทางฝั่งสหภาพยุโรป หรืออียู ยังให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน แต่การให้การสนับสนุนทางการเงินก็คงไม่มาก เพราะเศรษฐกิจของอียูโดยรวม เวลานี้ก็ไม่ค่อยดีนัก”

ดังนั้นสิ่งที่อาจกระทบถึงไทยคือ แผนงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero ในปี 2065) อาจจะสะดุด เพราะนโยบายหรือมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่เกี่ยวกับการลดโลกร้อน ที่ให้ประเทศคู่ค้าต้องปฏิบัติตามอาจลดความเข้มงวดลง ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกของไทย เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังต้องนำพาธุรกิจของตัวเองให้เอาตัวรอด เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้ก่อน ทำให้การลงทุนเพื่อลดโลกร้อนอาจถูกชะลอออกไป

สิ่งที่อาจกระทบตามมาคือ อาจกระทบต่อการออกตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม(กรีนบอนด์)เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของภาครัฐและเอกชนไทย รวมถึงการปล่อยกู้ของสีเขียว(กรีนไฟแนนซ์) ของสถาบันการเงิน รวมถึงหุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาด อาจจะไม่เฟื่องฟูเท่าในสมัยโจ ไบเดน