"BOI-GAC AION" เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน "EV" ดันศก. 2.2 พันล.

07 พ.ย. 2567 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2567 | 13:37 น.

"BOI-GAC AION" เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน "EV" ดันศก. 2.2 พันล. หลังสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทยที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ดำเนินการผลักดันผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน AION Sourcing Day

โดยดำเนินการร่วมกับบริษัท GAC AION เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION ซึ่งได้เริ่มเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเน้น 7 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior Parts ,Exterior Parts 

,Electrical and Electronics Parts ,Chassis Parts ,Car Body Parts ,Traction Motor Parts และ Battery Parts โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 220 บริษัท และในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,250 ล้านบาท 
 

สำหรับบริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ GAC Group ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ด้วยยอดขายสะสมกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก และเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 165 ของโลกจาก Fortune Global 500 

"BOI-GAC AION" เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน "EV" ดันศก. 2.2 พันล.

โดย GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทยที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท ซึ่งเฟสแรกได้ลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังใช้สำนักงานในไทยเป็น Regional Headquarters ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

การดำเนินดังกล่าวเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ Supply Chain ของ EV ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย GAC AION ก็จะได้พบกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์ระดับโลกมาแล้ว อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานของ GAC AION จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ 
 

"ที่ผ่านมาบีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN และ BMW ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท"

นายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GAC AION ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต จำหน่าย และการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำระบบการผลิตที่ครบวงจรมาใช้ในประเทศไทย ไม่เพียงแค่การผลิต EV แต่รวมถึงชิ้นส่วน แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยจะร่วมกันส่งเสริมระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม EV ในไทยสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบัน GAC AION มีโชว์รูม 50 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2568 และตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มขยายสายการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่น AION V ในช่วงกลางปี 2568 

“GAC AION มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรม EV ในไทย และจะสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลไทยด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการเติบโตในระยะยาว ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งใจที่จะขยายฐานในไทย และนำระบบที่ครบวงจรเข้ามาพัฒนาต่อยอดในประเทศ"  

อย่างไรก็ดี GAC AION มีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาซัพพลายเชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่า 47% และมีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากขึ้นในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญของ GAC AION ในการเลือกผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมี 3 ประการ ประกอด้วย 

  • ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน 
  • กลุ่มชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นขนาดใหญ่จะมีโอกาสมาก เพราะหากนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการจัดซื้อในประเทศ 
  • การจัดซื้อในประเทศมีข้อได้เปรียบเรื่องการบริการหลังการขาย ที่มีความสะดวกและรวดเร็วกว่า