ห้ามยึดรถ-บ้าน หนี้ค้างไม่เกิน1ปี พักดอกเบี้ย 3 ปี แก้หนี้รายย่อย

06 พ.ย. 2567 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 10:27 น.
10.5 k

ธปท.จ่อประกาศรายละเอียดช่วย “หนี้บ้าน-รถยนต์ และธุรกิจ SMEs” หลังคณะทำงานเคาะหลักเกณฑ์แล้ว ตีกรอบค้างไม่เกิน 1 ปี พักชำระดอกเบี้ยชั่วคราว 3 ปี ยืดเวลาด้วยการลดผ่อนชำระ 50% เข้มห้ามก่อหนี้ชั่วคราว ผิดเงื่อนไขกลับมาเป็นคนผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม

การประสานความร่วมมือ 4 หน่วยงาน โดยกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และ สมาคมธนาคารไทย (TBA) ออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อลดภาระทางการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้

ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงและเป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำก่อน 1 มกราคม 2567 และเป็นสัญญาที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ตามเกณฑ์ที่กำหนด อ้างอิงข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2567 โดยจะประกาศคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย เกณฑ์การเข้าร่วม และรายละเอียดของมาตรการเร็วๆ นี้ 

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรอบนี้ มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มรายย่อย-SMEs ที่ค้างชำระหนี้สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 1 ปี พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการช่วยเหลือ เบื้องต้นเป็นเวลา 3 ปี คือ

  • พักชำระดอกเบี้ยชั่วคราว
  • ยืดระยะเวลาผ่อนเงินให้ โดยลดการผ่อนชำระ 50%
  • ระหว่างเข้าร่วมมาตรการต้องคุมพฤติกรรม ห้ามก่อหนี้ชั่วคราว
  • ให้รายงานข้อมูลปรับโครงสร้างหนี้ในบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร

ขณะที่ผู้เข้าร่วมมาตรการนี้ต้องยอมรับผลกระทบข้างเคียง กรณีไม่สามารถปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ นอกจากจะไม่ได้รับยกเว้น “ดอกเบี้ยที่พักแขวนไว้” แล้วยังต้องกลายสภาพเป็น “คนผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม” และสำหรับลูกหนี้รายไหนที่แกล้งป่วย เพื่อถือโอกาสเอาประโยชน์จากดอกเบี้ยที่พักชำระ ย้ำว่าจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง 

หนี้เสีย-SM เพิ่มต่อเนื่อง

ธปท. รายงานสินเชื่อจัดชั้นที่กล่าวถึง (SM) สินเชื่ออุปโภคบริโภค ไตรมาส 2/67 จำนวน 394,542 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.07% จากไตรมาส 1/67 โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 27.43% และสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 1.15% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสินเชื่ออุปโภคบิโภคเพิ่มขึ้น 8.63% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 17.19% ขณะที่สินเชืื่อรถยนต์ลดลง 1.57% 

ห้ามยึดรถ-บ้าน หนี้ค้างไม่เกิน1ปี พักดอกเบี้ย 3 ปี แก้หนี้รายย่อย

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาส2/67 เพิ่มขึ้น 53,058 ล้านบาท โดยเป็นเอ็นพีแอลรายใหม่  37,735 ล้านบาท Re-entry 8,742 ล้านบาทและอื่นๆ 6,581 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 พบว่า จำนวนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 5,338 ล้านบาท จากจำนวนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น 47,720 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 11.19% โดยเป็นเอ็นพีแอลใหม่ 38,224 ล้านบาท Re-entry 7,838 ล้านบาทและอื่น 1,658 ล้านบาท 

ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นของผู้ประกอบการ SMEs ไตรมาส 2/67 จำนวน 366,572 ล้านบาทลดลง 16,757 ล้านบาทหรือลดลง 4.37% จาก 383,329 ล้านบาทฬฯช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) 232,849 ล้านบาทลดลง 9,118 ล้านบาทหรือ 3.77% จาก 241,967 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การออกมาตรการแก้หนี้บ้านและรถยนต์รอบนี้ เพราะทางการมองภาพรวมว่า สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ โดยหลักการหารือ จะลดวงเงินผ่อนชำระต่องวดลง 50% และพักดอกเบี้ยเป็นเวลา  3 ปี เพื่อลดวงเงินผ่อนจ่ายต่องวด เพื่อให้นำเงินไปตัดเงินต้นให้ลูกหนี้ได้เร็วขึ้น แต่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ มีเงื่อนไขที่เสนอขอต่อทางการและรอทางการว่า จะผ่อนผันได้หรือไม่  

“ถ้าลดวงเงินต้นผ่อนชำระต่องวด ควบคู่กับการพักดอกเบี้ยไว้ ก็พอจะบรรเทาลูกหนี้บางส่วน อาจจะไม่เหมือนกันทุกเคส ส่วนเรื่องเงินชดเชยจากการทำมาตรการนี้ ไส้ในยังต้องมีรายละเอียดที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน นอกเหนือจากที่แบงก์เสนอให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงหนึ่งเหลือ  0.23% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.46%”

คลังรับข้อเสนอลดเงินนำส่ง FIDF

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยื่นข้อเสนอลดเงินนำส่ง FIDF แลกกับการยกเว้นดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ว่า เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่กระทรวงการคลังรับได้ ถ้าเป็นการทำเพื่อประชาชน ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้ยังอยู่ใน NCB การจะขอกู้ใหม่ได้ก็ขึ้นกับสถานะของลูกหนี้รายนั้นๆ ที่ธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เท่าที่หารือกับธนาคารพาณิชย์มาก่อนหน้านี้ ก็มีความเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่แล้ว หลังจากนี้จะให้ธนาคารพาณิชย์ไปหารือกันเพื่อหาข้อยุติ นอกจากนี้ยังจะหารือกับธปท.ให้พิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น” 

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ttb) ในฐานะทีมงานแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของTBA เปิดเผยว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนครั้งนี้ ต้องการเข้าไปช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวและกำลังจะถูกยึดบ้านหรือยึดรถยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ใช้บ้านเป็นสถานประกอบการและใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทยธนชาต  

โดยกำหนดนิยามลูกหนี้ที่จะเข้าข่ายต้องมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วัน พร้อมเงื่อนไขให้ผ่อนำชำระเฉพาะเงินต้น เพื่อตัดเงินต้นก่อน ส่วนดอกเบี้ยให้พักแขวนไว้ จนเมื่อลูกหนี้ทำได้ตามโปรแกรมและตามระยะเวลา 3ปี ดอกเบี้ยที่พักแขวนไว้จะยกให้ลูกหนี้ แต่กรณีลูกหนี้ไม่สามารถทำตามโปรแกรมต้องกลับสู่สถานะเดิมคือ ผิดนัดชำระหนี้  

“รายละเอียดของมาตรการและการชดเชยเรื่องรายได้ของธนาคารนั้น ทางการพยายามจะออกรายละเอียดและขั้นตอนให้เร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงการคลังและธปท.จะสรุปเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” นายปิติกล่าว 

ส่วนจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารหรือไม่นั้น นายปิติกล่าวว่า เป็นมาตรการที่ win-win ไม่ได้กระทบธนาคารในเชิงลบ เพราะหากธนาคารไม่ช่วยลูกหนี้ ธนาคารก็แย่เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้ไว้แล้ว

แม้ภาพรวมหนี้เสียของระบบมีแนวโน้มแย่ลง แต่สถานการณ์เริ่มนิ่งและอัตราการไหลเป็นหนี้เสียเริ่มชะลอตัวลง ส่วนลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM ก็มีกลไกในการบริหารจัดการอยู่แล้ว หากมีมาตรการเข้ามาช่วยเสริมเชื่อว่า สถานการณ์หนี้เสียจะเริ่มดีขึ้น

กกร.ลุ้นรัฐออก “คูณสอง” 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กกร.ได้นำเสนอสมุดปกขาวต่อนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นข้อเสนอภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว เช่น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

  • การช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
  • การควบคุมราคาสินค้า
  • การตรึงค่าไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล
  • การนำเสนอการเพิ่มกำลังซื้อในลักษณะ โครงการคูณสอง
  • การกระตุ้นการใช้สอยผ่านมาตรการ Easy e-Receipt
  • มาตรการทางภาษีอื่นๆ 

“ถามว่าโครงการคูณสองคืออะไร ในความหมาย “คูณสอง” ก็คือคนละครึ่ง ซึ่งเคยใช้ในรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เราเกรงว่า ถ้าบอกว่า “คนละครึ่ง” บางทีรัฐบาลเขาไม่อยากจะใช้ซ้ำ ก็เลยหาทางออกว่าเป็นมาตรการในลักษณะโครงการคูณสองก็แล้วกัน ซึ่งสามารถคิดใหม่ทำใหม่ได้”นายสนั่นกล่าว 

วอนอย่ายึดรถกระบะ 

อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับในหลักการและจะไปดูว่า จำนวนเงินที่จะสนับสนุนมาตรการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันกกร.ยังขอให้รัฐบาลนำเรื่องไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทไฟแนนช์ หรือลิสซิ่งรถยนต์ เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ยึดรถกระบะ หรือรถปิกอัพ ซึ่งเป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ประชาชนใช้ทำมาหากิน  

ทั้งนี้จากข้อมูลเครดิตบูโร คนไทยมีหนี้ด้านรถยนต์อยู่จำนวนหนึ่ง(ไตรมาสที่ 3/67 คนไทยมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันที่เป็นหนี้เสีย (NPL) รวมกว่า 1.18 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้เสียบ้าน 230,481 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์ 259,330 ล้านบาท และหนี้บัตรเครดิต 69,306 ล้านบาท ส่วนหนี้ค้างชำระ 31-90 วัน ซึ่งเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย อยู่ที่ 641,393 ล้านบาท โดยเป็นหนี้บ้าน 187,199 ล้านบาท หนี้รถยนต์ 187,386 ล้านบาท และหนี้บัตรเครดิต 10, 796 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงที่รถจะถูกยึด 1-2 แสนคัน  

“หากประชาชนถูดยึดรถกระบะไปในเวลานี้ ก็จะไม่มีเครื่องมือในการทำมาหากิน จากช่วงปลายปีถือเป็นช่วงที่จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก หากเขายังมีรถก็ยังไปช่วยต่อชีวิต หรือต่อลมหายใจได้"

นายสนั่นกล่าวต่อว่า หากไปยึดรถเขาจะได้ซักกี่ตัง และรถต้องหาที่เก็บอีกสู้ให้เขายังใช้ทำมาหากินไม่ดีกว่าหรือ ได้มีเงินมาจ่ายค่างวดและหนี้สิน โดยอาจช่วยให้เขาผ่อนน้อยลง หรือขอดูเวลาอีกซัก 3 เดือนได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยหมุนได้อีกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,042 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567