“แฮร์ริส”ผู้นำสหรัฐ ตะวันออกกลางร้อนต่อ ลุ้น“ทรัมป์” ศึกรัสเซีย-ยูเครนสงบ

26 ต.ค. 2567 | 15:11 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 15:41 น.

บิ๊กสภาอุตฯ ชี้ “แฮร์ริส” นั่งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐ คาดสงครามอิสราเอล-อิหร่านยังร้อนแรงต่อ จากนโยบายเดโมแครตยังมุ่งผนึกนาโต้เป็นผู้นำโลก ชี้หาก “ทรัมป์” คัมแบ็กผู้นำรอบใหม่ ลุ้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติ ความตรึงเครียดช่องแคบเกาหลีคลี่คลาย

สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่ส่อยืดเยื้อรุนแรง หลังทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลดราวาศอก พร้อมตอบโต้กันรุนแรงมากขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" ยังให้การสนับสนุนอิสราเอล ขณะอิหร่านได้รับแรงสนับสนุนจากรัสเซีย ล่าสุดอิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการโจมตีอิหร่านช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ระบุเพื่อเป็นการตอบโต้อิหร่านที่ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีส่วนสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่า สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และในหลายพื้นที่ของโลกจะยังเพิ่มดีกรีความรุนแรง หรือคลี่คลายลง

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ว่า จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่าย หาก “กมลา  แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แทนโจ ไบเดน จากพรรคเดียวกัน นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐคาดจะยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก โดยสหรัฐยังจะ เข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างประเทศในทุก ๆ พื้นที่ของโลก และยังร่วมมือกับนาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ซึ่งหมายถึงชาติตะวันตกอย่างใกล้ชิด เพื่อยังคงเป็นผู้นำโลก

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

“เพราะฉะนั้นความตึงเครียดในภูมิภาคต่าง ๆ คาดจะยังมีสูงเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่องแคบไต้หวันระหว่างไต้หวันกับจีน ช่องแคบเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน สงครามในตะวันออกกลาง เช่น อิสราเอล-อิหร่าน และอิสราเอลกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ซึ่งหากแฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามในแต่ละพื้นที่ โดยความตึงเครียดอาจเปลี่ยนไปสู่สงครามใหญ่ได้”

ส่วนหากอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับชัยชนะ ได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐอีกครั้ง ทรัมป์ได้ชูนโยบาย  Make America Great Again โดยยึดผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนธุรกิจของอเมริกาในต่างประเทศให้โยกย้ายกลับไปตั้งฐานผลิตในประเทศ

ส่วนการเมืองระหว่างประเทศ ทรัมป์ไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญกับนาโต้มากนัก กรณีนี้อาจจะอาจทำให้สหรัฐ ลอยแพนาโต้ โดยเฉพาะกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทรัมป์ เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติภายในหนึ่งวัน โดยจะคุยกับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย จากที่มีความคุ้นเคยและสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวมานาน

“ในมุมนี้หากทรัมป์ได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐ อาจจะทำให้สงครามรัสเซีย -ยูเครนสงบลง แต่อาจจะย้ายมาเป็นอิสราเอลกับอิหร่านในตะวันออกกลางที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นแทน เพราะทรัมป์มีความสนิทสนมและยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเนทันยาฮู(ผู้นำอิสราเอล)”

ขณะที่สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน(ระหว่างไต้หวันกับจีน) ทรัมป์ก็ประกาศว่า  จากนี้หากไต้หวันต้องการให้สหรัฐเข้าไปช่วย ไต้หวันต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ซึ่งหมายถึงไต้หวันต้องมีต้นทุน สหรัฐจะไม่ได้สนับสนุนแบบเต็มที่ และต้องมีผลตอบแทน ตรงนี้อาจทำให้ผู้นำไต้หวันต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี

ส่วนความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยที่เป็นประธานาธิบดีได้มีโอกาสไปเยือนคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือแบบตัวต่อตัวมาแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ตรงนี้อาจจะคลี่คลายดีขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภาพรวมของโลก หากกมลา  แฮร์ริส หรือโดนัลด์  ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ น่าจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

“หากกมลา  แฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามในแต่ละพื้นที่ ความตึงเครียดอาจเปลี่ยนไปสู่สงครามใหญ่ได้ ขณะที่หากเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจจะคลี่คลายลงดีขึ้น”