เยอรมนี เล็งขยายฐานผลิต AI ในไทย "พิชัย" ชวนลงทุน Data Center

21 ต.ค. 2567 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2567 | 10:00 น.

”พิชัย“ รมว.พาณิชย์ หารือ รัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ เยอรมนี เร่งส่งเสริมการค้า-ลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดึงลงทุน Data Center ด้านเยอรมนี เล็งขยายฐานผลิต AI ในไทย พร้อมผลักดันเจรจา FTA ไทย – อียู ให้สำเร็จ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีกับ ดร.นิโคล ฮอฟไมสเตอร์-เคราท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ แรงงาน และการท่องเที่ยวแห่งรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค เป็นรัฐสำคัญที่มีจำนวนประชากร และขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเยอรมนี และมีมูลค่าการค้ากับไทย คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย–เยอรมนี โดยมีสินค้าศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ไฟฟ้า

 

เยอรมนี เล็งขยายฐานผลิต AI ในไทย \"พิชัย\" ชวนลงทุน Data Center

 

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญและมีความสนใจที่จะขยายฐานการผลิต รวมทั้ง กลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริการเป้าหมายที่สองฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ยานยนต์ วิศวกรรมเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า ระบบจัดเก็บข้อมูล (Data Center) พลังงานทางเลือก และ Soft power โดยเฉพาะในสาขาอาหารและการท่องเที่ยว 

ขณะเดียวกัน รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น Daimler (Mercedes-Benz) (ยานยนต์และชิ้นส่วน) Bosch (เทคโนโลยีการขับเคลื่อน ระบบขนส่งอัจฉริยะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน และมีมูลค่าการค้ากับไทยคิดเป็น 20% ของมูลค่าการค้ารวมไทย-เยอรมนี

 

เยอรมนี เล็งขยายฐานผลิต AI ในไทย \"พิชัย\" ชวนลงทุน Data Center

 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ขอให้เยอรมนีช่วยสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย - อียู ให้สามารถสรุปผลได้โดยเร็ว โดยสองฝ่ายเห็นพ้องว่า FTA ไทย - อียู จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – เยอรมนี รวมถึงรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คด้วย ซึ่ง FTA ฉบับนี้ จะช่วยขยายโอกาสและยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะส่งคณะนักธุรกิจและผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน และถือโอกาสนี้ เชิญชวนให้นักธุรกิจรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไทยยินดีให้การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 เยอรมนีถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป การค้าระหว่างไทย – เยอรมนี มีมูลค่า 10,737.90 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปเยอรมนี 4,555.82 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

 

เยอรมนี เล็งขยายฐานผลิต AI ในไทย \"พิชัย\" ชวนลงทุน Data Center

 

ขณะที่ไทยนำเข้าจากเยอรมนี 6,182.09 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์