เจาะลึก : คำชี้แจงคลังกรณี “ดิไอคอนกรุ๊ป” และการปราบปรามแชร์ลูกโซ่

17 ต.ค. 2567 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 13:48 น.

กระทรวงการคลัง ชี้แจง รายละเอียดการดำเนินการของ สศค. ต่อกรณี “ดิไอคอนกรุ๊ป” พร้อมอธิบายหลักเกณฑ์การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงิน และแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย

กรณีการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ของ “บอสพอล” หรือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตามองข้อสรุปและเบื้องลึกด้านต่าง ๆ หลังจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองบัญชาการสอบสวนกลาง

จนล่าสุดมีการออกมายจับบอสพอล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง The iCon Group พร้อมพวก รวม 18 ราย ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ 

 

ภาพประกอบข่าวการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ของ “บอสพอล” หรือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล

 

หากย้อนกลับไปในปี 2561 ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีหนังสือถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อขอให้ สศค. พิจารณาข้อหารือลักษณะการประกอบธุรกิจ ของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยมีเนื้อหาคำชี้แจงจากกระทรวงการคลัง ดังนี้

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือของ สคบ. ถึง สศค.

สคบ. มีหนังสือถึง สศค. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 เพื่อขอให้สศค. พิจารณาข้อหารือลักษณะการประกอบธุรกิจและได้ส่งแผนธุรกิจและแผนการตลาด พร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัดเพื่อหารือการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ มีข้อเท็จจริง ดังนี้

บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 โดยในช่วงปี 2561 บริษัทฯ ยังมิได้มีการดำเนินธุรกิจหรือมีผู้เสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ประกอบกับในขณะนั้น สศค. ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
 

จากการตรวจสอบในระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงของ สคบ. พบว่า บริษัทฯ ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 สศค. มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแผนธุรกิจของบริษัทฯ หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใด ๆ ที่จะมาขอจดทะเบียนขายตรงหรือตลาดแบบตรงกับ สคบ. เนื่องจากในทางปฏิบัติ สศค. มิได้เข้าตรวจหรือหารือกับบริษัทโดยตรง 

หากให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไป อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อน และส่งผลให้มีผู้นำความเห็นนั้นไปใช้โดยไม่ถูกต้องในภายหลัง

ทั้งนี้ สศค. มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหาย จากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟ้องร้องและต่อสู้คดี ศึกษา วิเคราะห์และเสนอความเห็นในการยึดและอายัดทรัพย์สิน

ส่วนของแนวทางปฏิบัติของ สศค. ในเรื่องการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น สศค. จะดำเนินการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากเอกสารที่ได้รับเท่านั้น 

ถ้าในข้อร้องเรียนใดพิจารณาแล้วน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ หรือข้อร้องเรียนนั้นอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ และมีผู้เสียหายเกิดขึ้น สศค. จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบสวน สอบสวน หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีต่อไปโดยตรง และจะมีหนังสือตอบกลับหน่วยงานที่ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เช่น สคบ. เป็นต้น 

 

ภาพประกอบข่าวการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด

 

2.พฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด 

สำหรับพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ตามมาตรา 4 วรรคแรกแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1.มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งการโฆษณาหรือประกาศจะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น การแจกเอกสาร การเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ หรือเป็นการบอกกล่าวระหว่างกันของบุคคลในลักษณะปากต่อปาก เป็นต้น

2.มีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมการลงทุน ซึ่งการจ่ายผลตอบแทนจะจ่ายเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ โดยผลประโยชน์ตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้

3. ผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นนำเงินจากผู้เข้าร่วมลงทุนรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อน หรือผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้

นอกจากนี้ในการพิจารณาว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ นั้น จะต้องมีการสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทน หรือเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิก มิใช่การได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า และมีการชักจูงว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง 

ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดเป็นรายกรณีๆ ไป

 

ภาพประกอบข่าวการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นกฎหมาย มีการระบุข้อมูลว่า ในช่วงระหว่างปี 2520-2528 ได้มีธุรกิจการระดมเงินจากประชาชนหลากหลายรูปแบบ แต่ที่สร้างความเสียหายในขณะนั้นเป็นจำนวนมากคือ แชร์น้ำมัน (นางชม้อย์ ทิพย์โส) ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจในลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว สมควรให้มีการวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง 

โดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงได้ตรา พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ) ซึ่งได้กำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ 

ปัจจุบัน สศค. ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราว ร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษา วิเคราะห์การดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น 

รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟ้องร้องและต่อสู้คดี ศึกษา วิเคราะห์และเสนอความเห็นในการยึดและอายัดทรัพย์สิน และการพิจารณาแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในการยึด และอายัดทรัพย์สิน 

 

ภาพประกอบข่าวการประกอบธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด

 

อย่างไรก็ดี จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมามีข้อสังเกต ดังนี้

1. บทบาทการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เป็นกฎหมายในลักษณะปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา 

2. การปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิด โดยการแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ สอบสวนดำเนินคดี รวมถึงมีการยึด อายัดทรัพย์สิน ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ สังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการใช้บังคับกฎหมายโดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 

ด้วยเหตุผลข้างต้น เพื่อให้การปฏิบัติงานทั้งในรูปของการป้องปรามและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างดีประกอบกับข้อจำกัดของบุคลากร และอัตรากำลังของ สศค. ในการปฏิบัติงานสืบสวน ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดตาม พรก. การกู้ยืมเงินฯ 

ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอปรับแก้กฎหมายโดยมีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น