สคบ.จัดหนัก พร้อมเพิกถอนธุรกิจ “ดิไอคอนกรุ๊ป” พ้นบัญชี

16 ต.ค. 2567 | 19:48 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 19:55 น.

สคบ. งัดไม้แข็ง เตรียมเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่จดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กับ สคบ. คาดออกหนังสือภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 นี้

จากกรณีของที่มีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการประกอบธุรกิจ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ของ “บอสพอล” หรือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซึ่งผู้ร้องได้เข้าร่วมการประกอบธุรกิจโดยการชักชวนให้สมัครเป็นตัวแทนของบริษัทฯ เพื่อซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อ แต่ภายหลังผู้ร้องไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้ผู้ร้อง ได้รับความเสียหายจากการเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กับกองบัญชาการสอบสวนกลาง นั้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กับ สคบ. ไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 หลังจากพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้เสียหายหลายราย และการดำเนินธุรกิจมีข้อสงสัยจากสังคมหลายเรื่อง และอาจผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายของสคบ.

“สคบ.กำลังอยู่ระหว่างร่างหนังสือเพื่อพิจารณาเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด คาดว่าในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 นี้ จะทำหนังสือได้เสร็จสิ้น ก่อนจะพิจารณาในขั้นตอนของนายทะเบียนต่อไป” แหล่งข่าว ระบุ

สำหรับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ผ่านมาได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ผ่าน www.theicon.co.th 

ต่อมา สคบ. ระบุว่า ตามข้อเท็จจริงที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามที่ได้รับ จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งสคบ.ได้มีการตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดนำเสนอเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะนายทะเบียน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 24 เรื่อง ตรวจสอบแล้วพบว่า ประเด็นแห่งการร้องเรียนเป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนได้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เพื่อนำไปขายต่อ โดยมีความคาดหวังว่าจะได้รับผลกำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้า 

จากข้อเท็จจริงที่มีการร้องเรียนมิได้เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าหรือบริการแต่อย่างใด จึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

แต่ทั้งนี้ สคบ. ได้ดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยให้บริษัทฯ ดำเนินการพิจารณารับคืนสินค้าและคืนเงินแก่ผู้ร้อง ซึ่งมีผู้ร้องบางส่วนมีการเจรจาตกลงกันได้ จึงแจ้งยุติเรื่องร้องเรียน